มงคลชีวิต 38 ประการ | ๑๐. มีวาจาสุภาษิต
ธรรมคือแรงใจ
96 ธรรมคือแรงใจ
จิตเดิมแท้ของเรานั้นทุกคนนั้นมาจากธรรมชาติอันบริสุทธิ์
๒๔. มีความสันโดษ
สันโดษคืออะไร ?
 สันโดษ มาจากภาษาบาลีว่า สันโตสะ สัน แปลว่า ตน โตสะ แปลว่า ยินดี สันโดษจึงแปลว่ายินดี ชอบใจ พอใจ อิ่มใจ จุใจ สุขใจ กับของของตน ความหมายโดยย่อคือให้รู้จักพอ รู้จักประมาณ
 เรื่องสันโดษนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่มีผู้เข้าใจผิดกันมาก เข้าใจกันว่าสันโดษทำให้ยากจนบ้างละ เข้าใจว่าสันโดษทำให้เกียจคร้านบ้างละ เข้าใจว่าสันโดษขัดขวางความเจริญบ้างละ ขอให้เรามาพิจารณากันต่อไปว่า ความเข้าใจของคนทั้งหลายนั่นเป็นจริงหรือไม่ ลักษณะสันโดษที่แท้จริงเป็นอย่างไร มีคุณหรือโทษ

ลักษณะของความสันโดษ
 ความยินดี ความสุขใจ ความพอใจ ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ที่จัดว่าเป็นสันโดษ ต้องมีลักษณะ ๓ อย่างดังต่อไปนี้ คือ
 ๑.สเกนสันโดษ ยินดีตามมี
 ๒.สันเตนสันโดษ ยินดีตามได้
 ๓.สเมนสันโดษ ยินดีตามควร

 ยินดีตามมี หมายถึง ยินดีกับของที่ตนมีอยู่แล้ว พอใจกับของของตนไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ของเรา ลูกเมียของเรา งานของเรา ประเทศชาติของเรา ถึงจะมีข้อบกพร่องอย่างไร ก็ค่อยๆ แก้ไขกันไปให้ดีขึ้น แต่ไม่คิดไขว่คว้าแย่งชิงเอาของคนอื่นเขามา
 ช่างซ่อมรองเท้าริมถนนมีความพอใจในงานของตน ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง รอบคอบ ละเอียดลออ เป็นที่ติดใจของลูกค้า สามารถเก็บหอมรอมริบทีละเล็กละน้อย จนตั้งตัวไ ได้กิจการขยายใหญ่โตก็มีตัวอย่างให้เห็น
 บุคคลเมื่อพอใจในสิ่งใด เขาย่อมก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในสิ่งนั้น ความพอใจจะเป็นพลังหนุนให้เกิดความพยายาม ส่วนความไม่พอใจจะทำให้คนเหนื่อยหน่าย ระอิดระอา
 สันโดษ ข้อนี้จะเป็นเครื่องกำจัดความเกียจคร้านเบื่อหน่าย และโลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน
 ยินดีตามได้ หมายถึง ยินดีกับของส่วนที่ตนได้มา คือ เมื่อแสวงหาประโยชน์อันใดแล้ว มันได้เท่าไรก็พอใจเท่านั้น มันอาจจะได้ไม่ถึงเป้า ประณีตสวยงามไม่ถึงเป้า ก็พอใจ ยินดีเพียงแค่นั้น ไม่ถึงกับกระวนกระวาย เป็นทุกข์ เพราะได้ไม่สมอยาก ไม่เป็นคนชนิด ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา
 คนที่ขาดสันโดษข้อนี้ มักเป็นคนดูถูกโชควาสนาของตนเอง พยายามใส่ไฟตนเองให้มันเดือดร้อนจนได้ แทนที่จะชอบส่วนที่ไ่ด้กลับนึกเกลียดชังรำคาญใจ แล้วเอาความชอบใจไปฝากไว้กับส่วนที่ตัวไม่ได้
 คนทอดแหหาปลาที่ขาดสันโดษข้อนี้ มักจะคิดเสมอว่า ปลาตัวที่หลุดมือลงน้ำตัวโตกว่าตัวที่จับได้ เกลียดปลาตัวที่จับได้ แต่พอใจตัวที่หลุดมือ ผลที่สุดก็ต้องกินปลาตัวที่เกลียด แล้วเฝ้าทุกข์ใจ เสียดายปลาตัวที่ปลุดมือ คนประเภทนี้ ไม่มีหวังได้กินปลาอร่อยๆ จนตาย เพราะคิดว่า ตัวที่อร่อยที่สุดคือตัวที่จับไม่ได้
 ยินดีตามควร หมายถึง ยินดีกับของที่สมควรกับตนเท่านั้น สิ่งใดที่มีอยู่ หรือที่จะได้ต่อไป หากเห็นว่าไม่ควรกับเรา ก็ไม่ยินดี ไม่ยอมรับเอาไว้

 การพิจารณาสิ่งต่างๆ ว่าควรกับเราหรือไม่นั้น ให้พิจารณาหลัก ๓ ประการ ดังนี้
 ๑.ยถาลาภะ ควรแก่ฐานะ
 ๒.ยถาพละ ควรแก่สมรรถภาพ
 ๓.ยถาสรุปะ ควรแก่ศีลธรรม

 ควรแก่ฐานะ คือให้พิจารณาว่าเรามีฐานะเป็นอะไร นักบวช ชาวบ้าน ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ครู นักเรียน นายพัน นายร้อย นายสิบ อธิบดี เสมียน ฯลฯ และก็แสวงหาหรือยอมรับแต่ของที่ควรกับฐานะของตนไม่เป็นคนใฝ่สูงเกินศักดิ์ เช่น เป็นเสมียนก็ยินดีกับเก้าอี้ไม้ธรรมดา ไม่ใช่ไขว่คว้าอยากได้เก้าอี้บุนวมของอธิบดี เป็นพระมีคนจะถวายผู้หญิงไว้คอยรับใช้ปูที่หลับที่นอน ก็ต้องรู้ว่าไม่เหมาะกับฐานะของตนจึงไม่รับ
 ควรแก่สมรรถภาพ คือ คนเรามีกำลังความสามารถไม่เท่ากัน ทั้งกำลังกาย กำลังความคิด กำลังใจ กำลังความดี ก็ให้รู้กำลังความสามารถของตนเอง และแสวงหาหรือยอมรับเฉพาะของที่ควรแก่สมรรถภาพของตนเองเท่านั้น ไม่เป็นคนตีราคาตัวเองผิด คิดเอาง่ายๆ ตื้นๆ ว่าเขาเป็นอะไร ตัวก็จะเป็นได้อย่างเขาทุกอย่าง เข้าทำนอง “เห็นเขานั่งคานหาม เอามือประสานกัน”
ความสามารถเป็นได้แค่รัฐมนตรี ก็ไม่ดิ้นรนไปเป็นนายก หรือความสามารถแค่เป็นคนใช้ก็อย่าริเป็นคุณนาย
 ควรแก่ศีลธรรม คือ ของใดก็ตามที่ควรกับฐานะของเรา ควรแก่ความสามารถของเรา แต่ถ้าไปยินดีกับของนั้นแล้ว จะทำให้เราผิดศีลธรรม เสียชื่อเสียง เสียเกียรติยศ เสียศักดิ์ศรี ก็ไม่ควรยินดีกับของสิ่งนั้น เช่น ของที่ลักปล้นฉ้อโกงเขามา ของที่เป็นสินจ้างในทางที่ผิด ไม่เป็นคนลุแก่อำนาจความมักได้

ข้อเตือนใจ
     คนจำนวนมากเข้าใจสันโดษผิด คิดว่าสันโดษคือการไม่ทำอะไร หรือการพอใจอยู่คนเดียว
 การไม่ทำอะไรนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า โกสัชชะ คือ เกียจคร้าน ไม่เรียกว่าสันโดษ
 การพอใจอยู่คนเดียวนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า ปริวิตตะ ไม่เรียกว่าสันโดษ
 คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่องสันโดษนั้น ไม่ได้สอนให้คนเกียจคร้าน ท้อถอย ไม่ทำการงาน หรือทำงานเรื่อยๆ เฉื่อยแฉะ เป็นภัยต่อความเจริญ ความก้าวหน้า อย่างที่เข้าใจกัน ตรงกันข้ามมงคลข้อนี้ชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าถ้าแต่ละคนรู้จักสถานภาพของตนเอง สำนึกในฐานะ ความสามารถ และความมีคุณธรรมของตนอยู่เสมอแล้ว ความมีสันโดษจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ จะทำให้ทุกคนพอใจกับของของตน พอใจกับของที่ตนได้มาและพอใจกับของที่สมควรแก่ตน จะไม่มีการเบียดเบียน แก่งแย่งชิงดี อิจฉาริษยา ให้ร้ายป้ายสี ฉ้อโกงกัน ฯลฯ
 การแก่งแย่งชิงดีกันในหมู่ผู้ใหญ่จนถึงทำลายกัน ใส่ร้ายป้ายสีกัน การทุจริตและมิจฉาชีพต่างๆ ที่ระบาดในสังคมทุกวันนี้ก็เพราะใจของคนเหล่านั้นไม่มีสันโดษมุ่งจะเอาแต่ได้ ไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี ความเห็นแก่ตัวของผู้มีอำนาจการกอบโกยฉวยโอกาสของพ่อค้านักธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนส่วนมาก ความเร่าร้อนใจเพราะโลภจัด ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ จนกลายเป็นมัวเมาในวัตถุ ทะเยอทะยานจนเกินกำลังความสามารถของตนได้มาโดยสุจริตไม่ทันใจ ก็ลงมือประกอบการทุจริตต่างๆ เพื่อสนองความอยากอันเผารนจิตใจอยู่ ดำเนินชีวิตไปอย่างไร้เหตุผล ก็เพราะขาดสันโดษนั่นเอง
 การพัฒนาสังคมจำเป็นต้องมีทั้งสันโดษและความเพียร เพราะความเพียรพยายามที่ไม่มีสันโดษควบคุมย่อมเกินพอดี และนำไปสู่ทางผิดได้ง่ายล่อแหลมต่ออันตรายเหมือนรถไม่มีเบรคหรือเบรคแตกย่อมวิ่งเลยขีดที่ต้องการไป ตกหลุมตกบ่อลงเหวข้างทางได้ง่าย บังคับให้หยุดไม่ได้ตามความปรารถนา
 ฉะนั้นจึงกล่าวไว้ว่า สันโดษเป็นคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นไปเพื่อความเจริญสุข ทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมประเทศชาติ หัวใจของผู้มีความสันโดษเท่านั้น จึงจะเหมาะแก่การปลูกฝังคุณธรรมอื่นๆ และคนมีสันโดษเท่านั้นจึงจะทำความดีได้ยั่งยืนไม่จืดจาง และทำดีด้วยความสุจริตใจ ที่สังคมพัฒนาไปได้ช้า เพราะคนขาดสันโดษต่างหากหาใช่เพราะคนมีสันโดษไม่

สิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้จักพอ
 คนทั่วไปไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักประมาณในสิ่งต่อไปนี้
 ๑.อำนาจวาสนา เช่น เป็นผู้อำนวยการกองก็ไม่พอ อยากเป็นอธิบดีหรือเป็นผู้แทนราษฎรก็ไม่พอ อยากเป็นรัฐมนตรี ทั้งๆที่ความสามารถไม่ถึง
 ๒.ทรัพย์สมบัติ เช่น มีบ้านหลังเล็กก็ไม่พอ อยากจะได้บ้านหลังใหญ่มีเงินล้านก็ไม่พอ อยากจะได้เงินสิบล้าน
 ๓.อาหาร เช่น มีอาหารธรรมดารับประทาน ก็ไม่พอ อยากจะไปรับประทานอาหารแพงๆตามภัตตาคารหรูๆ
 ๔.กามคุณ เช่น มีสามีหรือภรรยาแล้วก็ไม่พอ อยากมีใหม่อีก

 วิธีสร้างความสุข สร้างความเจริญก้าวหน้า ต้องเริ่มด้วยการรู้จักพอใจกับสิ่งที่ตัวมีอยู่ และทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ไม่ไขว่คว้าทะเยอทะยานจนเกินเหตุ เช่น เป็นหัวหน้าแผนก อยากให้มีความสุข ความก้าวหน้าก็ให้พอใจในตำแหน่งของตนแล้วตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ความสุขก็เกิด ความเจริญก้าวหน้าก็จะมีมาเอง เป็นสามีหรือภรรยาอยากมีความสุขก็ให้พอใจในคู่ครองของตน แล้วทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ความสงบสุขในครอบครัวก็จะมีมาเอง ไม่ใช่เที่ยววิ่งวุ่นมีบ้านเล็กบ้านน้อย ยิ่งมีก็ยิ่งทุกข์ หาความสุขไม่ได้สักที
 โบราณท่านผูกเรื่องสอนใจไว้ว่า มีสุนัขอดโซตัวหนึ่ง เดินพลัดหลงทางเข้ามาในบ้าน เจ้าของบ้านสงสารหาน้ำข้าวให้กิน พอกินน้ำข้าวได้ ๗ วัน วันที่ ๘ จะขึ้นโต๊ะกินร่วมกับเจ้าของบ้าน จึงถูกไล่เผ่นออกจากบ้านเพราะมันเป็นโรคไม่รู้จักพอ โรคชนิดนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในคนและสัตว์ ทั้งในหญิงและชาย ทั้งในคนจนและคนรวย ทั้งในคนมีความรู้และคนไม่มีความรู้
“เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสันโดษ”

สันโดษเป็นต้นทางแห่งความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร
 ความสุขในโลกนี้อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ
 ๑.สามิสสุข เป็นความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุภายนอก มาตอบสนองความต้องการทางหู ตา จมูก ลิ้น กายและความคิดอยากต่างๆ เป็นความสุขขั้นหยาบ เพราะมีทุกข์เจือปนมากตลอดเวลา มีอาการคือ
     ๑.๑ ต้องแส่หาดิ้นรนกระวนกระวาย เป็นอาการนำหน้า เนื่องจากของทั้งหลายหาได้ยากมีจำกัด
     ๑.๒ เมื่อได้มาก็ต้องระวัง รักษา ยึดติด คับแคบ อึดอัด หวงแหน ผูกพันกลัวสูญ
     ๑.๓ ถ้าไม่ได้มา ถูกขัดขวาง ก็ขัดใจ คิดทำลาย คิดอาฆาต พยาบาท จองเวร
 ๒.นิรามิสสุข เป็นความสุขภายใน ที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอกมาสนองความอยาก เป็นความสุขขณะที่ใจมีลักษณะ
 สะอาด  ไม่มีกิเลสปน
 สงบ  ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย
 เสรี  เป็นอิสระ โปร่งเบา ไม่คับแคบ
 สว่างไสว ประกอบด้วยปัญญา เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
 สมบูรณ์  ไม่มีความรู้สึกขาดแคลน ไม่รู้สึกบกพร่อง ไม่ว้าเหว่ มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานอิ่มเอิบอยู่ภายใน
 นิรามิสสุข จึงเป็นความสุขที่แท้จริง เป็นภาวะสุขที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ตามมา ซ้ำยังช่วยขจัดปัญหาต่างๆ ด้วยผู้ที่จะมีนิรามิสสุขได้จะต้องมีสภาพใจที่สงบไม่ดิ้นรน คือ มีความสันโดษเสียก่อน ยิ่งสันโดษต่อสามิสสุขมากเท่าไร ก็ยิ่งได้นิรามิสสุขมากขึ้นเท่านั้น “สันโดษทำให้เกิดสุข”

(พุทธพจน์)

การหาเลี้ยงชีพอย่างมีสันโดษ
 ในการดำรงชีพ พระพุทธศาสนามุ่งให้ทุกคนหาปัจจัย ๔ หล่อเลี้ยงร่ายกาย พอเพียงเพื่อให้สังขารนี้สามารถดำรงอยู่ได้ตามอัตภาพ จากนั้นก็ใช้ร่างกายนี้สร้างความดีต่างๆ ให้เต็มที่ทุกรูปแบบทุกโอกาส มิได้มุ่งหมายให้คนเราดิ้นรนไขว่คว้าทะเยอะทะยานจนเกินเหตุ เพื่อให้มีวัตถุต่างๆ พรั่งพร้อมบริบูรณ์ไว้บำรุงบำเรอตน
 เพราะฉะนั้น ความสำเร็จในด้านอาชีพเศรษฐกิจของประเทศมิใช่วัดด้วยการมีทรัพย์สินเต็มพระคลังหรือเต็มล้นอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แต่อยู่ที่ไม่มีคนอดอยากยากไร้  “การไม่มีคนยากจน เป็นเครื่องวัดความสำเร็จของรัฐได้ดีกว่าการมีคนร่ำรวย”

หลักปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์สิน
 ๑.การแสวงหา ต้องหามาโดยชอบธรรม ไม่ข่มเหงรับแกใคร ไม่ทำผิดกฎหมาย ผิดประเพณี ผิดศีล ผิดธรรม
 ๒.การใช้ ไม่เป็นคนตระหนี่ และก็ไม่ฟุ่มเฟือย ให้รู้จักใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและคนเกี่ยวข้องให้เป็นสุข รู้จักทำทาน เผื่อแผ่ แบ่งปัน ใช้ทรัพย์ทำสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
 ๓.ทัศนคติเกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ถือว่าทรัพย์สินเงินเป็นพระเจ้าแต่เป็นเพียงอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิต

ประเภทของคนจน
 คนจนในโลกนี้มีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่
 ๑.จนเพราะไม่มี คือ คนที่ขัดสนทรัพย์ มีทรัพย์น้อย จัดว่าเป็นคน “จนชั่วคราว” ถ้าหากทำมาหากินถูกช่องทาง ย่อมมีโอกาสรวยได้
 ๒.จนเพราะไม่พอ คือ คนที่มีทรัพย์มากแต่ไม่รู้จักพอ จัดว่าเป็นคน “จนถาวร” เป็นเศรษฐีอนาถา ต้องจนจนตาย

 สันโดษ คือ การรู้จักพอ จึงเป็นคุณธรรมที่มหัศจรรย์ สามารถทำให้คนเลิกเบียดเบียนกัน เลิกฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เลิกสะเพร่า เลิกสงคราม ทำให้คนอิ่มใจได้ แม้มีทรัพย์ มียศ มีตำแหน่งน้อย และทำให้คนรวยเป็นเศรษฐีได้โดยสมบูรณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ความสันโดษเป็นยอดทรัพย์” วิธีฝึกให้มีสันโดษ
 ๑.ให้หมั่นพิจารณาถึงความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่ตลอดเวลา ว่าเราจะหลีกเลี่ยงจากสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ ถึงดิ้นรนหาเงินทองมากเท่าไรก็นำติดตัวไปไม่ได้ เมื่อพิจารณาบ่อยเข้า ความโลภก็จะลดลง แล้วความสันโดษก็จะเกิดขึ้น
 ๒.ให้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร กินเพื่ออยู่ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน เป็นการฝึกสันโดษขั้นพื้นฐานที่เราต้องปฏิบัติอยู่ทุกวัน
 ๓.ให้หมั่นให้ทานอยู่เสมอๆ เป็นการฆ่าความตระหนี่ ความโลภในตัวไปทีละน้อยๆ เมื่อทำบ่อยๆ เข้า แล้วความสันโดษก็จะเกิดขึ้น
 ๔.ให้หมั่นรักษาศีล โดยเฉพาะศีล ๘ ผู้ที่รักษาศีล ๘ จะช่วยให้เกิดความสันโดษในหลายเรื่อง เช่น ศีลข้อ ๓ ทำให้สันโดษในกามคุณ ศีลข้อ ๖ ทำให้สันโดษในเรื่องอาหาร ศีลข้อ ๗ ทำให้สันโดษในเรื่องเครื่องนุ่งห่ม การแต่งเนื้อแต่งตัว และศีลข้อ ๘ ทำให้สันโดษในเรื่องที่อยู่อาศัยที่หลับนอน
 ๕.ให้หมั่นทำสมาธิเป็นประจำ เมื่อทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอจิตใจก็จะสงบนุ่มนวลขึ้น ความอยากเด่น อยากดัง หรืออยากได้ในทางที่ไม่ชอบก็จะค่อยๆ หายไป

วิธีฝึกสันโดษในสังคมไทย
 สังคมไทยตั้งแต่โบราณ มีวิธีฝึกสันโดษได้ผลดีเยี่ยมอย่างหนึ่งคือการบวช แม้จะเป็นการบวชช่วงสั้นเพียงพรรษาเดียวก็ตาม
 ผู้บวชจะมีโอกาสสัมผัสกับความสุขชนิดไม่อิงวัตถุ แต่เป็นความสุขใจที่เกิดจากความพอ เกิดจากความสงบภายใน ซึ่งในชีวิตประจำวันหาโอกาสทำได้ยาก
 ผู้บวชเป็นพระภิกษุ จะได้สัมผัสกับความสุขในขณะที่มีเครื่องนุ่งหุ่มครองกายเพียงผ้า ๓ ผืน มีบาตร ๑ ใบ บิณฑบาตเลี้ยงชีพ จะได้สัมผัสความสุขจากการไม่มีห่วง ไม่มีการสะสม ไม่ถูกผูกมัดจากวัตถุมีอิสระโปร่งเบา เหมือนนกน้อยในอากาศ เปรียบเทียบกับความสุขหยาบๆ หลอก ๆในขณะที่เป็นฆราวาสซึ่งเป็นสุขปนทุกข์ ต้องแสวงหาเป็นห่วงและหวงแหนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เข้าใจถึงประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของการมีสันโดษ

อานิสงส์การมีสันโดษ
 ๑.ตัดกังวลต่างๆ
 ๒.ออกห่างอกุศล
 ๓.ทำตนให้สบาย
 ๔.คลายผิดคิดถูก
 ๕.ปลูกศีลธรรม
 ๖.นำตนให้พันทุกข์
 ๗.ไม่ฝ่าฝืนทำชั่ว
 ๘.ปลูกแต่ความเจริญ
 ๙.สร้างแต่เหตุดี
 ๑๐.นำศาสนาให้รุ่งเรือง    
"น้ำแม้เพียงน้อยก็สามารถทำให้แก้วน้ำเต็มบริบูรณ์ได้ ตรงข้ามแม้มีน้ำมากมหาศาลก็ไม่สามารถทำให้มหาสมุทรเต็มบริบูรณ์ ในทำนองเดียวกันทรัพย์สินเงินทองแม้เพียงน้อย ก็สามารถยังใจของผู้มีความสันโดษ ให้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขความพอใจ ตรงข้ามแม้มีทรัพย์สินเงินทองมากมายมหาศาลเพียงใดใจของผู้ไม่มีสันโดษก็ยังเร่าร้อน กระวนกระวาย กระหายอยากได้อยู่นั่นเอง"