นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ
หมู่นกจ้อง มองเท่าไร ไม่เห็นฟ้า
ถึงฝูงปลา ก็ไม่เห็น น้ำเย็นใส
ไส้เดือนมอง ไม่เห็นดิน ที่กินไป
หนอนก็ไม่ มองเห็นคูถ ที่ดูดกิน
คนทั่วไป ก็ไม่ มองเห็นโลก
ต้องทุกข์โศก หงุดหงิด อยู่นิจสิน
ส่วนชาวพุทธ ประยุกต์ธรรม ตามระบิล
เห็นหมดสิ้น ทุกสิ่ง ตามจริงเอยฯ 
นิทานเรื่องสั้นของท่านพุทธทาส  เรื่อง มดร้องเพลง
คืนวันเพ็ญ เดือนหงายแจ่ม คืนหนึ่ง มดง่ามแก่ ตัวหนึ่ง ได้ร้องเพลง ชมความเด่น ของดวงจันทร์ ขึ้นดังๆ ว่า
หนอนไม่เห็นคูถ!
ไส้เดือนไม่เห็นดิน!
นกไม่เห็นฟ้า!
ปลาไม่เห็นน้ำ!
คนไม่เห็นโลก!! แต่ยังแถมเผยอพูดกันว่า ได้บรรลุ โลกุตตรธรรม ด้วยกรรมฐาน แบบนั้น แบบนี้ มีจิตพ้นจากกิเลส ดั่งดวงจันทร์ พ้นจากเมฆ ดังนี้ นี่พระจันทร์ จะว่าอย่างไรเอ่ย?
พระจันทร์ ได้หลบเข้ากลีบเมฆ เสียทุกคราว ที่ได้ฟังเพลง บทนี้ เลยยัง ไม่ได้ ตอบปัญหานั้น มาจนกระทั่งทุกวันนี้!
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า: เมื่อทางฝ่ายอาจารย์เอง ก็ยังไม่รู้จักโลก แล้วก็สอนศิษย์ ที่ยังไม่รู้จักโลก อย่างเดียวกัน ให้ข้ามขึ้นสู่ โลกุตตรภูมิ ได้กันเกร่อไปหมดนั้น ฝ่ายไหน จะอยู่ในฐานะที่น่าสมเพชกว่ากัน? และถ้านำไปเปรียบกับไส้เดือน ที่ยังไม่เคยเผยอพูดว่า จะข้ามขึ้นจากโลก ฝ่ายไหน จะน่าสมเพช ยิ่งขึ้นไปอีกหนอ?
คัดจากหนังสือ นิทานเซ็น มหรสพทางวิญญาณเพื่อจริยธรรม เล่าโดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ณ หอประชุมคุรุสภา พุทธศักราช ๒๕๐๕ พิมพ์โดย ธรรมสภา
สำนักพิมพ์ฟ้าประทานบุ๊ค