มงคลชีวิต 38 ประการ : สิ่งที่เป็นมงคล
สพฺพทานํ  ธมฺมทานํ  ชินาติ
การให้ธรรม  ชนะการให้ทั้งปวง

ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ.
บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า
จาก . . . สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๘๘
สิ่งที่เป็นมงคล ( มงคล ๓๘ )
ประณีต  ก้องสมุทร
สารบัญ

เรื่อง
๑.  
๒.  
๓.  
๔.  

๑. 

๒. 

๓. 

๔. 

๕. 

๖. 

๗. 

๘. 

๙. 

๑๐. 

๑๑. 

๑๒. 

๑๓. 

๑๔. 

๑๕. 

๑๖. 

๑๗. 

๑๘. 

๑๙. 

๒๐. 

๒๑. 

๒๒. 

๒๓. 

๒๔. 

๒๕. 

๒๖. 

๒๗. 

๒๘. 

๒๙. 

๓๐. 

๓๑. 

๓๒. 

๓๓. 

๓๔. 

๓๕. 

๓๖. 

๓๗. 

๓๘. 
ธรรมคือแรงใจ
96 ธรรมคือแรงใจ
จิตเดิมแท้ของเรานั้นทุกคนนั้นมาจากธรรมชาติอันบริสุทธิ์
สิ่งที่เป็นมงคล ( มงคล ๓๘ ) 
     มนุษย์เราไม่ว่าหญิงหรือชาย  เด็กหรือผู้ใหญ่  ยากจนหรือมั่งมี  ล้วนแต่ต้องการสิ่งที่ดีงาม  เป็นมงคล
แก่ชีวิตของตนทั้งสิ้น  แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ามงคลคืออะไร  และอะไรที่เป็นมงคล

    นานมาแล้วในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติบังเกิดขึ้น  ได้มีการถกเถียงกันในชมพูทวีป
ว่าอะไรเป็นมงคล  ต่างคนต่างก็แสดงสิ่งที่เป็นมงคลตามความเห็นของตน  แต่ไม่อาจตกลงกันได้ว่า  อะไรแน่เป็น
มงคล  การถกเถียงกันมิได้เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์เท่านั้น  หากได้ลุกลามไปถึงพวกเทวดาและพรหม  ในสรวงสวรรค์
ด้วย   ถึงกระนั้นก็ยังหาข้อยุติไม่ได้จวบจนเวลาล่วงไป ๑๒ ปี   สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าคือพระพุทธเจ้าของเรา
พระองค์นี้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก  พวกเทวดาในดาวดึงส์เทวโลกจึงได้พากันเข้าไปเฝ้าท้าวสักกะเทวราช  ( คือพระ
อินทร์ )  ผู้เป็นพระราชาในภพดาวดึงส์ทูลถามถึงมงคล  ท้าวสักกะตรัสถามว่า  ท่านทั้งหลายได้ทูลถามเรื่องนี้กับ
พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหรือยัง  เมื่อทรงทราบว่ายัง  จึงได้ทรงตำหนิว่าพวกท่านได้ล่วงเลย  พระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้ทรงแสดงมงคลแล้วกลับมาถามเรา   เป็นเหมือนทิ้งไฟเสีย   แล้วมาถือเอาไฟที่ก้นหิ้งห้อย   ตรัสแล้วชวนกันไป
เฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระวิหารเชตวัน  ใกล้กรุงสาวัตถีในแคว้นโกศล  ถวายบังคมแล้วยืนอยู่  ณ  ที่ควร  ท้าวสักกะ
ทรงมอบหมายให้เทวดาองค์หนึ่งเป็นผู้ทูลถามเรื่องนี้

    ในเวลานั้นเทพเจ้าในหมื่นจักรวาล  เนรมิตกายให้ละเอียดมาแออัดประชุมกัน  เพื่อมงคลปัญหาในที่
นั้นด้วย   จนพระเชตวันสว่างไสวไปทั่วด้วยรัศมีกายของเทวดาเหล่านั้น   ถึงกระนั้นก็มิอาจบดบังพระรัศมี   ซึ่ง
เปล่งออกจากพระกายของพระพุทธเจ้าได้   เทวดาองค์ที่ได้รับมอบหมายให้ทูลถามมงคลปัญหากะพระพุทธเจ้า 
ได้ทูลถามปัญหากะพระพุทธเจ้าว่า  "เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมากหวังอยู่ซึ่งความสวัสดี  ได้พา
กันคิดสิ่งที่เป็นมงคล (แต่ไม่อาจคิดได้)  ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอุดมมงคล"

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสให้ทราบว่า มงคลมีอยู่ ๓๘ มงคล  ด้วยพระคาถา ๑๐ คาถาใน มงคลสูตร๑
ตามลำดับดังนี้
๑.พระไตรปิฎก  เล่ม  ๒๕  ขุททกนิกาย  ขุททกปาฐะ  ข้อ ๕-๖


คาถาที่ ๑. มี ๓ มงคลคือ
๑.      อเสวนา จ พาลานํ    การไม่คบคนพาล
๒.      ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา    การคบบัณฑิต (คือ ท่านผู้รู้ทั้งหลาย)
๓.      ปูชา จ ปูชนียานํ    การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

คาถาที่ ๒. มี ๓ มงคลคือ
๔.      ปฏิรูปเทสวาโส จ    การอยู่ในประเทศ(ถิ่น)ที่สมควร
๕.      ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา    การได้กระทำบุญไว้แล้วในปางก่อน
๖.      อตฺตสมฺมาปณิธิ จ    การตั้งตนไว้ชอบ

คาถาที่ ๓. มี ๔ มงคลคือ
๗.      พาหุสจฺจญฺจ    การสดับตรับฟังมาก
๘.      สิปฺปญฺจ    การศึกษาศิลปะ
๙.      วินโย จ สุสิกฺขิโต    วินัยที่ศึกษาดีแล้ว
๑๐.      สุภาสิตา จ ยา วาจา    วาจาสุภาษิต

คาถาที่ ๔. มี ๔ มงคลคือ
๑๑.      มาตาอุปฏฺฐานํ    การบำรุงมารดา
๑๒.      ปิตุอุปฏฺฐานํ    การบำรุงบิดา
๑๓.      ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห    การสงเคราะห์บุตรและภรรยา
๑๔.      อนากุลา จ กมฺมนฺตา    การงานไม่อากูลคั่งค้าง

คาถาที่ ๕. มี ๔ มงคลคือ
๑๕.      ทานญฺจ    ทาน การให้
๑๖.      ธมฺมจริยา    การประพฤติธรรม
๑๗.      ญาตกานญฺจ สงฺคโห    การสงเคราะห์ญาติ
๑๘.      อนวขฺขานิ กมฺมานิ    การกระทำการงานที่ไม่มีโทษ

คาถาที่ ๖. มี ๓ มงคลคือ
๑๙.      อารตี วีรตี ปาปา    การงดการเว้นจากบาป
๒๐.      มฺชชปานา จ สญฺญโม    การสำรวมจากน้ำเมา
๒๑.      อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ    ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

คาถาที่ ๗. มี ๕ มงคลคือ
๒๒.      คารโว จ    ความเคารพ
๒๓.      นิวาโต จ    การอ่อนน้อมถ่อมตน
๒๔.      สนฺตุฏฺฐี จ    ความสันโดษ
๒๕.      กตญฺญุตา    ความกตัญญูรู้คุณ
๒๖.      กาเลน ธมฺมสฺสวนํ    การฟังธรรมตามกาล

คาถาที่ ๘. มี ๔ มงคลคือ
๒๗.      ขนฺตี จ    ความอดทน
๒๘.      โสวจสฺสตา    ความเป็นผู้ว่าง่าย
๒๙.      สมณานญฺจ ทสฺสนํ    การเห็นสมณะ
๓๐.      กาเลน ธมฺมสากจฺฉา    การสนทนาธรรมตามกาล

คาถาที่ ๙. มี ๔ มงคลคือ
๓๑.      ตโป จ    ความเพียรเผากิเลส
๓๒.      พฺรหฺมจริยญฺจ    การประพฤติพรหมจรรย์
๓๓.      อริยสจฺจานทสฺสนํ    การเห็นอริยสัจ
๓๔.      นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ    การทำนิพพานให้แจ้ง

คาถาที่ ๑๐. มี ๔ มงคลคือ
๓๕.      ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ    จิตของผู้ใดถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
๓๖.      อโสกํ    ความไม่เศร้าโศก
๓๗.      วิรชํ    จิตที่ปราศจากธุลี คือกิเลส
๓๘.      เขมํ    จิตที่ถึงความเกษมจากโยคะ

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมงคล ๓๘ ด้วยพระคาถา ๑๐ คาถาเหล่านี้แล้ว  ได้ทรงแสดงอานิสงส์
ของมงคลไว้ในคาถาสุดท้าย  ( คือคาถาที่ ๑๑ )  ว่า  "เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายกระทำมงคลทั้งหลายดังนี้
แล้ว  เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง  ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน  ข้อนั้นเป็นมงคลอันสูงสุดของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น"
ขยายความมงคล  ๓๘ ข้อ 

    ก่อนที่จะขยายความมงคลแต่ละข้อ  ขอให้เรามาทำความรู้จักกับ "มงคล" ก่อนว่ามีความหมายว่าอย่าง
ไร  โดยปกติเมื่อพูดถึงสิ่งที่เป็นมงคล  เรารู้ว่าสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งดี  แม้คำว่ามงคลในมงคลสูตร  ที่พระพุทธเจ้าทรง
แสดงไว้นี้ก็มีความหมายในด้านดี  คือมีความหมายว่าเหตุแห่งความสำเร็จ  เหตุแห่งความเจริญ  เหตุแห่ง (การได้)
สมบัติทั้งปวง  คำว่า  "อุดม"  ได้แก่ วิเศษ  ประเสริฐ  สูงสุด  เพราะฉะนั้นคำว่า  อุดมมงคล  จึงหมายถึงเหตุ
แห่งความสำเร็จอันวิเศษ  เหตุแห่งความสำเร็จอันสูงสุด  เหตุแห่งการได้สมบัติอันพิเศษสูงสุด ผู้ที่ประพฤติตามมงคล
ทั้ง  ๓๘ ข้อ   แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งก็ยังได้ชื่อว่าได้ประพฤติเหตุแห่งความสำเร็จอันสูงสุด  นำประโยชน์และความสุข
มาให้ตนเองและผู้อื่น  จะป่วยการกล่าวไปไยถึงผู้ที่ประพฤติมงคลได้มากข้อ   หรือได้ครบทั้ง  ๓๘  ข้อ  ว่าจะได้รับ
ประโยชน์สุขสูงสุดเพียงไหน

    คนในโลกนี้มี  ๒  ประเภท  คือคนเลวกับคนดี  คนเลวเปรียบได้กับคนพาล  คนดีเปรียบได้กับบัณฑิต 
พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้คบคนเลวหรือคนพาล  แต่ให้คบกับคนดีหรือบัณฑิต
๑.  การไม่คบคนพาล 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๑  การไม่คบคนพาล  เป็นอุดมมงคล  พระพุทธเจ้าตรัสลักษณะของคนพาล 
คือคนไม่ดี  คนโง่  คนชั่ว  ไว้  ๓ ประการคือ  ทำชั่ว  พูดชั่ว  คิดชั่ว

    ทำชั่ว  คือ  การกระทำชั่วทางกาย  มีการฆ่าสัตว์ ๑  ลักทรัพย์ ๑  ประพฤติผิดในกาม ( คือประพฤติ
ผิดประเวณี ) ๑
    พูดชั่ว  คือ  การกระทำชั่วทางวาจา  มีการพูดเท็จ ๑  การพูดส่อเสียด ๑  การพูดคำหยาบ ๑  การพูด
เพ้อเจ้อ  เหลวไหล ไร้สาระ  ๑
    คิดชั่ว  คือ  การกระทำชั่วทางใจ  มีการคิดอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน ๑  การคิดพยาบาท
ปองร้ายให้ผู้อื่นพินาศ ๑  คิดวิปริตเป็นมิจฉาทิฏฐิ  เช่นเห็นว่าการกระทำบุญ  การกระทำบาปไม่มีผล เป็นต้น ๑

    รวมความว่าคนพาลคือคนที่ทำชั่วทางกาย ๓  ทางวาจา ๔  ทางใจ ๓  อันได้แก่ ทุจริตกรรม ๑๐ หรือ
อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่นเอง  คนพาลที่มีความประพฤติอย่างนี้  พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้คบหาเข้าใกล้ 
เพราะเมื่อคบหาเข้าใกล้ชิดสนิทสนมด้วย  ก็จะทำให้เรามีใจโน้มเอียงคล้อยตาม  ยินดีชอบใจในการกระทำของ
เขา  เอาอย่างเขา  อันจะเป็นเหตุให้เรากลายเป็นคนพาลไปด้วย   คนพาลจึงเปรียบเหมือนปลาเน่า   ใบไม้นั้นก็
พลอยเหม็นเน่าไปด้วย  เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรคบคนพาล  ไม่ควรฟังคำพูดของคนพาล ไม่ควรอยู่ร่วมกับคนพาล 
ไม่ควรเจรจาปราศรัยกับคนพาล  ไม่ควรชอบใจความประพฤติของคนพาล   เพราะคนพาลนำมาแต่ความพินาศ
เพียงประการเดียว  เหมือนพระเจ้าอชาตศัตรูต้องฆ่าพระราชบิดา  และเสื่อมจากมรรคผลก็เพราะคบหาคนพาล
คือพระเทวทัต

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิติเตียนการคบคนพาลว่า  มีโทษนานาประการดังกล่าวนี้แล้ว  บัดนี้เมื่อ
จะทรงสรรเสริญการคบบัณฑิต  จึงตรัสว่า  การคบบัณฑิตเป็นอุดมมงคล
๒.  การคบบัณฑิต 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๒  การคบบัณฑิตเป็นอุดมมงคล  พระพุทธเจ้าตรัสลักษณะของบัณฑิต  คือ
นักปราชญ์ ผู้รู้ ผู้ฉลาด  ไว้  ๓ ประการคือ  ทำดี  พูดดี  คิดดี  อันเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับคนพาลโดยแท้

    ทำดี  คือ  การกระทำดีทางกาย ๓  มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์  ๑  งดเว้นจากการลักทรัพย์  ๑ 
งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม  ๑
    พูดดี  คือ  การกระทำดีทางวาจา ๔  มีการงดเว้นจากการพูดเท็จ  ๑  งดเว้นจากการพูดส่อเสียด  ๑ 
งดเว้นจากการพูดคำหยาบ  ๑  งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ  เหลวไหลไร้สาระ  ๑
    คิดดี  คือ  การกระทำดีทางใจ  ๓  มีการไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ๑   การไม่คิด
พยาบาทปองร้ายให้ผู้อื่นพินาศ ๑  มีความคิดไม่วิปริตเป็นสัมมาทิฏฐิ  เช่นเห็นว่าการกระทำบุญการกระทำบาป
มีผล  เป็นต้น ๑

    รวมความว่าบัณฑิต   คือคนที่ทำดีทางกาย  ๓  ทางวาจา  ๔  ทางใจ  ๓  อันเป็นสุจริตกรรม ๑๐  หรือ
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่นเอง  บัณฑิตที่มีความประพฤติดังกล่าวนี้นี่แหละที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คบหาเข้า
ใกล้สนิทสนมด้วย  เพราะจะทำให้เรามีใจโน้มน้อม  คล้อยตาม   ยินดีชื่นชมในความประพฤติของเขา   เอาเยี่ยง
อย่างเขา  อันจะทำให้เราเป็นบัณฑิตไปด้วย  เนื่องด้วยบัณฑิตย่อมชักนำให้เราทำแต่สิ่งดีมีประโยชน์เหมือนท่าน 
บัณฑิตจึงเปรียบเหมือนของหอม  มีไม้จันทน์หอม  เป็นต้น  เมื่อเอาผ้าไปห่อไม้จันทน์หอม  ผ้าที่ห่อก็พลอยหอม
ไปด้วย

    พระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระองค์ทรงเป็นบัณฑิต  ผู้ที่ได้คบหาเข้าใกล้พระองค์  และสาวกของ
พระองค์จึงได้รับประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่  เพราะพระองค์ทรงสอน ให้ทำ ให้พูด ให้คิด  แต่สิ่งดีมีสาระประโยชน์ 
พระองค์และสาวกของพระองค์จึงเป็นที่ชื่นชมยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป  ใครๆ  ก็อยากเข้าใกล้   คบหาสมา
คมด้วย

    นอกจากพระพุทธเจ้าและพระสาวกของพระองค์จะได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตแล้ว  แม้พระปัจเจกพุทธเจ้า
ตลอดจนผู้ที่มีลักษณะของบัณฑิต ๓ ประการดังกล่าวแล้ว  ล้วนได้ชื่อว่าบัณฑิตทั้งสิ้น

    บัณฑิตเหล่านั้น  เป็นผู้สามารถกำจัดอุปัทวะภัยและอุปสรรคทั้งปวงให้แก่ผู้ที่ทำตามคำของบัณฑิตได้ 
บุคคลที่อาศัยบัณฑิตแล้ว  ย่อมสามารถเข้าถึงสรณคมน์  เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์  เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้

๓.  บูชาบุคคลที่ควรบูชา 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๓  บูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล  คำว่าบูชานั้นหมายถึงการแสดงความ
เคารพนับถือ  ก็การบูชานั้นมี  ๒  อย่างคือ

    อามิสบูชา  การบูชาด้วยอามิสคือ  สิ่งของเครื่องล่อใจ  มีเงินทอง  ดอกไม้  ของหอม  เป็นต้น
    ปฏิบัติบูชา  การบูชาด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  มีการเข้าถึงไตรสรณคมน์  รักษาศีล ๕  ศีล ๘  ศีล
อุโบสถ  เจริญสมถะและวิปัสสนา  การศึกษาพระธรรมวินัย  เป็นต้น

    การบูชานั้นเราบูชาบุคคล ๑  บูชาคุณงามความดี ๑

    ในการบูชาบุคคลนั้นท่านแบ่งบุคคลออกเป็น ๓ พวก  คือ  บุคคลที่สูงด้วยชาติ (ชาติวุฒิ)  คือมีกำเนิด
สูง  เช่น  พระราชา  พระราชินี  พระโอรส  พระธิดา  เป็นต้น ๑  บูชาบุคคลที่สูงด้วยวัย (วัยวุฒิ)  คือผู้ที่เกิดก่อน
เรา  เช่น  ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่  เป็นต้น ๑  บูชาบุคคลที่สูงด้วยคุณ (คุณวุฒิ)  มีครู อาจารย์  ภิกษุ สามเณร  พระ
อริยเจ้าทั้งหลาย  พระปัจเจกพุทธเจ้า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ในบุคคล  ๓  จำพวกนี้  เราสามารถจะบูชาท่านได้ทั้งอามิสบูชา  และปฏิบัติบูชา

    ส่วนการบูชาคุณงามความดีนั้น  หมายถึงบูชาคุณธรรมมีศีล  เป็นต้น  โดยไม่คำนึงบุคคลที่ประกอบ
ด้วยคุณธรรมเหล่านั้น  มีภิกษุสามเณร  เป็นต้น  ว่าเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ  หรือสกุลสูง  อายุน้อยหรือมาก  ท่าน
เหล่านั้นสมควรที่เราจะให้ความนับถือบูชาทั้งสิ้น  ผู้ที่บูชาบุคคลที่ควรบูชาจึงเป็นอุดมมงคลประการหนึ่ง
๔.  การอยู่ในประเทศที่สมควร 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๔  การอยู่ในประเทศที่สมควรเป็นอุดมมงคล  คืออยู่ในถิ่นที่สมควร  ประเทศ
ที่สมควรนั้น  คือประเทศที่เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  อุบาสกและอุบาสิกาของพระพุทธเจ้า 
ผู้ที่อยู่ในประเทศที่สมควรเหล่านี้ชื่อว่าเป็นอุดมมงคล  เพราะเป็นถิ่นที่ให้บุญกิริยาวัตถุ  ๑๐ ประการ  มีทานเป็นต้น 
กับเป็นเหตุให้ได้อนุตตริยะ  ๖  ประการมีทัสสนานุตตริยะ  การเห็นที่ยอดเยี่ยม เป็นต้น  ผู้ที่อยู่ในประเทศที่สมควร
เช่นนี้  จึงเป็นอุดมมงคล  เพราะสามารถที่จะบำเพ็ญบุญกุศลให้สมบูรณ์  จนถึงมรรคผลนิพพานได้

    อย่างคนที่เกิดอยู่ในประเทศไทย  ก็จัดว่าอยู่ในประเทศที่สมควรเช่นกัน  เพราะเรายังสามารถบำเพ็ญ
กุศลได้ทุกอย่าง  ในเมื่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกของพระองค์ยังคงอยู่ครบบริบูรณ์
๕.  การได้กระทำบุญไว้ในปางก่อน 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๕  การได้กระทำบุญไว้แล้วปางก่อน  ก็จัดเป็นมงคลอีกประการหนึ่ง  เพราะผู้
ที่จะบำเพ็ญกุศลให้สมบูรณ์ได้นั้นต้องอาศัยความที่ตนได้เคยทำบุญไว้ในอดีตชาติ  มาช่วยส่งเสริมสนับสนุนทั้งสิ้น 
โดยเฉพาะผู้ที่จะได้บรรลุคุณวิเศษเป็นพระอริยบุคคลในชาตินี้นั้น  ยิ่งต้องอาศัยบุญ  คือ  การอบรมเจริญภาวนาใน
ชาติก่อนๆ   มาเป็นปัจจัยสนับสนุนทั้งสิ้น   ขาดบุญในอดีตแล้วไม่อาจสำเร็จได้เลย   แม้พระพุทธเจ้ากว่าที่จะได้
สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้  ก็ต้องอาศัยบุญบารมีที่สร้างสมมานานถึง ๔ อสงไขยแสนกัป  มาเป็นเครื่องสนับสนุน
จึงสำเร็จ  การกระทำบุญไว้แล้วในปางก่อนจึงเป็นอุดมมงคล



๖.  การตั้งตนไว้ชอบ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๖  การตั้งตนไว้ชอบ  ก็เป็นอุดมมงคล  ผู้ที่ปรารถนาความดีงาม  และความสำ
เร็จในชาตินี้และชาติหน้า  มีการเกิดในสุคติโลกสวรรค์   และบรรลุมรรค ผล นิพพาน  ย่อมตั้งตนไว้ชอบ  ประกอบ
แต่สุจริตธรรม  สัมมาปฏิบัติ  มีศรัทธาเลื่อมใส  เจริญทาน  ศีล  ภาวนา  อยู่เป็นนิตย์  เพราะฉะนั้นผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบ 
ก็คือผู้ที่ตั้งตนอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายนั่นเอง  การตั้งตนไว้ชอบจึงเป็นอุดมมงคลเพราะเป็นเหตุให้พ้นอบาย  และ
สำเร็จมรรค ผล นิพพาน  ดังเรื่องของโจรห้าร้อย  ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า  ที่เที่ยวโจรกรรม  ดักปล้น
ชาวบ้านเลี้ยงชีวิต ต่อมาชนทั้งหลายเป็นอันมากรวมตัวกันจะจับโจร  พวกโจรก็หนีเข้าป่าไป  เมื่อเข้าไปในป่าได้พบ
ภิกษุรูปหนึ่ง  จึงเข้าไปนมัสการวิงวอนขอให้ท่านช่วย  ภิกษุรูปนั้นก็บอกให้รักษาศีล  เพราะศีลเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ
ในโลกหน้า  โจรทั้งหมดก็พากันยินดีรับศีลจากภิกษุรูปนั้น  แล้วพากันลาไป  ชาวบ้านทั้งหลายติดตามมาทัน  จึงช่วย
กันฆ่าโจรตายหมด  ด้วยอานิสงส์แห่งศีลที่พวกโจรรักษา  ตายแล้วได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองงดงาม
มีนางฟ้าหนึ่งพันเป็นบริวาร  ได้เสร็จสุขอยู่ในวิมานนั้น  นี่ก็เพราะการตั้งตนไว้ในศีล   ในเวลาใกล้ตาย   การตั้งตนไว้
ชอบ  จึงเป็นอุดมมงคลอย่างนี้



๗.  การสดับตรับฟังมาก 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๗  การได้สดับตรับฟังมาก  เป็นอุดมมงคล   ผู้ที่สดับตรับฟังคำสั่งสอนของ
พระพุทธเจ้า  มีพระสูตรเป็นต้น  เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัย  ทรงจำไว้ได้  ชื่อว่าเป็น  พหูสูต  หรือ  พาหุสัจจะ 
ผู้ที่มีพาหุสัจจะมากย่อมละอกุศล  เจริญกุศล  ละสิ่งที่มีโทษ  เจริญสิ่งที่ไม่มีโทษ  ทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะ  ได้ใน
ที่สุดด้วยปัญญา  แม้การฟังเรื่องราวที่ไม่มีโทษของชาวโลก  ก็จัดว่าเป็นมงคลเช่นกัน  เพราะเป็นประโยชน์เกื้อ
กูลทั้งโลกนี้และโลกหน้า

    ในสมัยพุทธกาล   พระอานนท์ได้ชื่อว่าเป็นผู้สดับตรับฟังมากที่สุด   ทั้งทรงจำไว้ได้ทั้งหมด   ท่านจึง
เป็นกำลังสำคัญในการทำสังคายนาครั้งแรก  ที่มีท่านพระมหากัสสปเป็นประธาน  หากขาดท่านพระอานนท์เสีย
แล้ว   พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้  คงจะไม่สมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน  ให้เราผู้เป็นอนุชนคนรุ่น
หลังได้ศึกษาและปฏิบัติตามเป็นแน่  ด้วยเหตุนี้พาหุสัจจะ  การสดับตรับฟังมา  จึงเป็นอุดมมงคลอีกประการหนึ่ง



๘.  การศึกษาศิลปะ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๘  การศึกษาศิลปะเป็นอุดมมงคล  ผู้ที่มีศิลปะคือผู้ที่มีฝีมือ  ไม่ว่าจะมีฝีมือ
ในการเป็นช่างเงิน ช่างทอง เป็นช่างตัดเย็บจีวรเป็นต้น  ชื่อว่าอุดมมงคล  ขึ้นชื่อว่าศิลปะไม่ว่าจะเป็นของคฤหัสถ์
หรือบรรพชิต  หากเป็นศิลปะที่ไม่มีโทษแล้ว  ชื่อว่าเป็นอุดมมงคลทั้งสิ้น  เพราะนำความสุขความเจริญมาให้ทั้ง
โลกนี้และโลกหน้า  ทั้งเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่นด้วย



๙.  วินัยที่ศึกษาดีแล้ว 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๙  ความเป็นผู้มีวินัย  เป็นอุดมมงคล  คำว่าวินัยนั้นแปลว่านำออก  คือนำโทษ
ทางกาย  ทางวาจา  ทางใจออกไป  ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ประพฤติสุจริตกรรม  เว้นทุจริตกรรม  จึงชื่อว่ามีวินัย  เพราะนำ
โทษที่เป็นทุจริตทางกาย  ทางวาจา  ทางใจ  ออกไป

    วินัยแบ่งออกเป็น  ๒  อย่างคือวินัยของคฤหัสถ์ ๑  และวินัยของบรรพชิต ๑  การงดเว้นจากอกุศล
กรรมบถ ๑๐ ประการ  ชื่อว่าวินัยของคฤหัสถ์  การไม่ต้องอาบัติ  ๗  กองมีปาราชิก ๑  สังฆาทิเสส ๑  ถุลลัจจัย ๑ 
ปาจิตตีย์ ๑  ปาฏิเทสนียะ ๑  ทุกกฏ ๑  และทุพภาษิต ๑ ชื่อว่าวินัยของบรรพชิต  แม้ปาริสุทธิศีล  ๔  มีปาติ
โมกขสังวรศีล ๑  อินทรียสังวรศีล ๑  อาชีวปาริสุทธิศีล ๑  ปัจจยสันนิสิตศีล ๑  ก็ชื่อว่าวินัยของบรรพชิต

    คฤหัสถ์ที่มีวินัยของคฤหัสถ์ย่อมพ้นอบาย  บรรพชิตที่มีวินัยของบรรพชิตย่อมพ้นอบายด้วย ย่อมบรรลุ
มรรค ผล นิพพานด้วย  เพราะฉะนั้นความเป็นผู้มีวินัยจึงเป็นอุดมมงคล



๑๐.  วาจาสุภาษิต 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๐  วาจาสุภาษิตเป็นอุดมมงคล  วาจาสุภาษิตคือวาจาที่กล่าวดีแล้ว  เป็นวาจา
ที่เป็นไม่มีโทษ  ประกอบด้วยธรรม  เป็นวาจาที่เป็นที่รัก เป็นวาจาจริงไม่เท็จ ไม่ส่อเสียด ไม่เหลวไหล  เพ้อเจ้อ 
แม้วาจาที่แสดงธรรมแก่ผู้อื่นด้วยมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง  ก็ชื่อว่าเป็นวาจาสุภาษิต  เพราะเป็นปัจจัยให้ผู้ฟังได้รับ
ความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า  อีกทั้งยังอาจให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน  อีกโสดหนึ่งด้วย

    วาจาที่เป็นทุพภาษิตนั้นตรงกันข้ามกับวาจาสุภาษิต  มีโทษมาก  สามารถนำไปเกิดในอบายได้เหมือน
เรื่องนี้

    ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระเถระ  ๒  รูปอยู่ในอาวาสเดียวกัน  รักใคร่กันดุจพี่น้อง 
ทั้งมีข้อวัตรปฏิบัติงดงาม  ต่อมามีพระธรรมกถึกรูปหนึ่งมาพักอยู่ที่อาวาสนั้น  เห็นภิกษุ  ๒  รูปนั้นมีลาภมาก  ก็
คิดริษยา  กล่าววาจายุยงให้พระเถระ  ๒  รูปนั้นแตกกัน  ออกจากอาวาสนั้น  แยกกันไปคนละทาง  พระธรรมกถึก
รูปนั้นก็ได้เป็นเจ้าอาวาส  ได้รับลาภสักการะเป็นอันมาก  ต่อมาพระเถระ ๒ รูปนั้นได้กลับมาพบกันที่วิหารแห่งหนึ่ง 
ไต่ถามกันทราบความจริงแล้วจึงกลับไปยังอาวาสเดิม  ขับไล่ภิกษุผู้ริษยานั้นออกไป  ภิกษุผู้ริษยานั้นเมื่อแตกกาย
ตายไป   บังเกิดในอเวจีมหานรก  ได้เสวยทุกขเวทนากล้า  เป็นเวลาช้านานตลอดพุทธันดร   มาในสมัยของพระ
พุทธเจ้าของเรานี้ได้พ้นจากอเวจีมหานรก  มาเกิดเป็นเปรตสุกร อยู่ที่เขาคิชฌกูฏ มีร่างกายใหญ่โตเหมือนมนุษย์ 
แต่มีศีรษะเป็นสุกร  มีหางงอกออกจากปาก  มีหมู่หนอนไหลออกจากปาก  ด้วยอำนาจของการกล่าววาจาส่อเสียด 
ไม่มีความจริง  เป็นทุพภาษิต

    เพราะฉะนั้นจึงควรงดวาจาทุพภาษิต  กล่าวแต่วาจาสุภาษิต  อันเป็นอุดมมงคล  แล้วท่านก็จะได้พบ
กับความสุขและความเจริญตลอดไป
๑๑.  การบำรุงมารดา   ๑๒.  การบำรุงบิดา 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๑  การบำรุงมารดาเป็นอุดมมงคล  และ  ๑๒  การบำรุงบิดา  เป็นอุดมมงคล 
ในอรรถกถาท่านแยกการบำรุงมารดาออกจากการบำรุงบิดา  เพื่อให้ครบมงคล  ๓๘  แต่ตามความเป็นจริงแล้ว 
บุตรพึงบำรุงมารดาบิดาให้เป็นสุขเท่าเทียมกัน  เพราะมารดาบิดาเป็นผู้ให้ชีวิตแก่บุตร  ให้บุตรได้มีโอกาสเกิด
มาดูโลกนี้  ถ้าปราศจากมารดาบิดาแล้ว  บุตรจะมีโอกาสเกิดขึ้นมาดูโลกนี้ได้อย่างไร  เพียงเท่านี้ก็นับว่าท่านทั้ง
สองมีบุญคุณแก่ลูกอย่างล้นเหลือแล้ว  ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการให้การอุ้มชู  อุปการะ  เลี้ยงดู  ป้อนนม  ป้อนข้าว 
ป้อนน้ำ  มาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่  อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี  ให้มีการศึกษา  มีการงานเป็นหลักฐาน  ช่วยตนเอง
ได้  บางครั้งก็ยังหาสามีและภรรยาที่เหมาะสมให้ด้วย  เพียงเท่านี้ก็นับเป็นพระคุณล้นฟ้า   ยากที่ลูกจะตอบแทน
คุณได้หมด  ยิ่งกว่านั้นบางท่านยังต้องเลี้ยงดูหลานๆ  อันเป็นลูกของลูกชายลูกหญิงของท่านอีกด้วย

    พระพุทธองค์ตรัสว่า  การที่บุตรจะตอบแทนบุญคุณของมารดาบิดา  นั้นไม่ใช่ง่าย  คือ  ยากที่จะตอบ
แทนให้หมดสิ้นได้  หากว่าจะประคองมารดาไว้บนบ่าข้างหนึ่ง  ประคองบิดาไว้บนบ่าอีกข้างหนึ่ง  ตลอดเวลา 
๑๐๐  ปีที่ลูกมีชีวิตอยู่  ปรนนิบัติท่านด้วยความรัก  ความเอาใจใส่  ยอมให้มารดาบิดาถ่ายอุจจาระปัสสาวะบน
บ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ  ถึงกระนั้นก็ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย  หรือ
แม้บุตรจะสถาปนาแต่งตั้งมารดาบิดาไว้ในตำแหน่งพระเจ้าจักรพรรดิ   เป็นใหญ่ในแผ่นดิน   บุตรก็ยังไม่ได้ชื่อ
ว่าทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย   เพราะมารดาบิดามีอุปการะมากแก่บุตร   แต่ถ้าบุตรคนใดได้กระทำ
มารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา  ให้มีศรัทธา  ไม่มีศีล  ให้มีศีล  ไม่มีจาคะ  ให้มีจาคะ  ไม่มีปัญญา  ให้มีปัญญา  การ
กระทำอย่างนี้เท่านั้นจึงจะได้ชื่อว่า  บุตรได้ทำตอบแทนมารดาบิดาแล้วอย่างแท้จริง

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า  มารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร  เพราะประกอบไปด้วยคุณธรรมของพรหม 
คือเมตตา  กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขา

    มารดาบิดาเป็นบุรพเทพ  คือเป็นเทวดาก่อนกว่าเทวดาทั้งปวง  ก็เทวดาหรือเทพนั้นมี  ๓  พวกคือ 
สมมติเทพ  เทวดาโดยสมมติ  ได้แก่พระราชา  พระราชินี  พระราชโอรส  และพระราชธิดา ๑  อุปปัตติเทพ 
เทวดาโดยอุบัติ  คือเกิดป็นเทวดาโดยกำเนิดในเทวโลก  ๖  ชั้นมีจาตุมหาราชิกา  เป็นต้น  กับพรหมโลกอีก 
๒๐  ชั้นรวมเป็น  ๒๖ ชั้นที่จัดเป็นเทวดาโดยกำเนิด ๑  วิสุทธิเทพ  เทวดาผู้บริสุทธิ์หมดจดจากอาสวะกิเลส
ทั้งปวงซึ่งได้แก่พระอรหันตขีณาสพพวกเดียวอีก ๑

    วิสุทธิเทพคือพระอรหันต์นั้นประเสริฐกว่าเทวดาทั้งปวง  เพราะปฏิบัติตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนทั้ง
ปวง  เป็นผู้ประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔  ควรแก่การเคารพสักการะบูชา  มารดาบิดาก็เช่นกัน  เป็นเทวดาประจำ
บ้าน  ที่บุตรควรให้ความเคารพสักการะก่อนผู้อื่น  ด้วยเหตุนั้นมารดาบิดาจึงชื่อว่าบุรพเทพหรือบุรพเทวดา  คือ
เป็นเทวดาก่อนกว่าเทวดาทั้งปวง  บุตรรู้จักเทพอย่างอื่นได้   ก็เพราะรู้จักบุรพเทพ  คือมารดาบิดาก่อนนั่นเอง 
เทวดาประเภทอื่นจึงชื่อว่า  มาทีหลังมารดาบิดา

    มารดาบิดาชื่อว่าบุรพาจารย์  เพราะเป็นครู  เป็นอาจารย์ก่อนกว่าครูอาจารย์ทั้งปวง  เริ่มแต่ลูกยังเล็ก
ก็สอนให้รู้จัก  พ่อแม่  พี่ ป้า น้า อา  สิ่งโน้นสิ่งนี้  ชื่อโน้นชื่อนี้  คนโน้นคนนี้  ตลอดจนแนะนำสั่งสอนในสิ่งที่ควรรู้ 
ควรทำและไม่ควรทำ  นานาประการ  เพราะฉะนั้นมารดาบิดา  จึงชื่อว่าบุรพาจารย์  อาจารย์คนแรกของลูก

    มารดาบิดาชื่อว่าอาหุเนยยบุคคล  คือบุคคลผู้ควรรับของที่บุตรนำมาให้  แม้จากที่ไกล  มีข้าว  น้ำ
อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น  ทั้งนี้เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มีอุปการคุณแก่บุตร  มีการให้อาหาร เป็นต้น  เป็นผู้
มุ่งประโยชน์แก่บุตรเทียบเท่ากับพระอรหันต์ทั้งหลาย  กล่าวคือพระอรหันต์ท่านเป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา 
เคารพสักการะ  ฉันใด  มารดาบิดาก็เป็นผู้ควรแก่ของที่บุตรนำมาบูชา  มาเคารพสักการะ  ฉันนั้น  มารดาบิดาจึง
เป็นพระอรหันต์ประจำบ้านที่บุตรควรให้การอุปการะเลี้ยงดูด้วยข้าวน้ำ  เป็นต้น  ด้วยเหตุนั้นมารดาบิดาจึงชื่อว่า
อาหุเนยยบุคคล  บุคคลผู้ควรแก่ของที่เขาคือบุตรนำมาบูชา

    นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังตรัสว่า  มารดาเป็นมิตรในเรือนตน   ซึ่งรวมทั้งบิดาด้วย   เพราะมารดา
บิดาเป็นคู่คิดของบุตร  เป็นที่ปรึกษาของบุตร  เป็นที่บำบัดทุกข์ของบุตร  ขอเพียงให้บุตรได้ไว้ใจท่านปรึกษาหา
รือท่านเท่านั้น

    มารดาบิดาพร้อมอยู่เสมอที่จะช่วยลูกทั้งในด้านความคิดและโภคทรัพย์  หากเกินกำลังของท่าน  ท่าน
ก็เสาะหาผู้ที่มีกำลังกว่าให้ช่วยแทน  ท่านไม่เคยทอดทิ้งลูกแม้ในยามยาก  ท่านจึงเป็นมิตรแท้ของลูกยิ่งกว่ามิตร
คนใด  มารดาบิดาจึงเป็นผู้มีอุปการะมาก  หาผู้เสมอเหมือนมิได้  เป็นผู้สมควรที่ลูกๆ  จะได้อุปการะตอบแทนคุณ
ท่านจนถึงที่สุด  โดยเฉพาะในเวลาแก่เฒ่า  ดูแลเอาใจใส่รักษาพยาบาลท่านในยามเจ็บไข้  แม้ท่านล่วงลับไปแล้ว 
ก็ยังพิ่มบุญให้ด้วยการทำบุญอุทิศให้ท่านได้ชื่นชมอนุโมทนา

    การเลี้ยงดูมารดาบิดา  ตลอดจนตอบแทนคุณท่านโดยประการอื่น  มีการช่วยทำกิจการงานแทนท่าน 
ช่วยรักษาวงศ์ตระกูลไว้ให้ดี   ประพฤติตนให้สมควรที่จะรับทรัพย์มรดกต่อจากท่าน   ตลอดจนทำบุญอุทิศไปให้
ท่านเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว  เหล่านี้ล้วนเป็นหน้าที่ของบุตรที่ดีจะพึงกระทำต่อมารดาบิดา  บุตรคนใดทำได้อย่าง
นี้  บุตรคนนั้นชื่อว่าได้ตอบแทนคุณมารดาบิดาที่ท่านให้ชีวิตมา  จัดเป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล  ผู้หาได้ยากในโลก 
และเป็นผู้ที่บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญ  แม้ละโลกนี้ไปแล้ว  ก็ย่อมบันเทิงในสวรรค์

    ลูกที่ดูแลเลี้ยงดูมารดาบิดาด้วยความรักความเมตตา  กตัญญูกตเวที  ย่อมได้รับผลที่น่าพอใจทั้งใน
โลกนี้และโลกหน้า  ฉันใด   ลูกที่ประพฤติผิดในมารดาบิดา   ก็ย่อมได้รับผลที่ตรงกันข้าม  ทั้งในโลกนี้และโลก
หน้า  ฉันนั้น  คือเป็นผู้ถูกนินทาในโลกนี้  เป็นผู้เกิดในอบายในโลกหน้า  ยิ่งทำผิดร้ายแรงถึงกับฆ่ามารดาบิดา 
ยิ่งโทษหนักมาก  เทียบเท่ากับฆ่าพระอรหันต์ทีเดียว  เพราะการฆ่าพระอรหันต์เป็นอนันตริยกรรม ให้ผลนำเกิด
ในอเวจีนรกทันทีที่ตายลง  ฉันใด  การฆ่ามารดาบิดาก็จัดป็นอนันตริยกรรม  ที่ให้ผลนำเกิดในอเวจีนรกทันทีที่
ตายลง ฉันนั้น  ไม่มีกรรมอื่นจะสามารถแซงให้ผลก่อนได้  แม้จะสำนึกผิดและทำกุศลมหาศาลเพื่อทดแทนความ
ผิดนั้น  ก็ไม่อาจปิดกั้นอนันตริยกรรมที่จะให้ผลก่อนได้

    การเลี้ยงดูมารดาบิดา  เป็นคุณธรรมข้อหนึ่งใน  ๗  ข้อที่ทำให้เกิดเป็นพระอินทร์เป็นใหญ่กว่าเทวดา
ทั้งปวงในภพดาวดึงส์   เป็นพระราชาของเทวดาในภพนั้น  เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  การบำรุงเลี้ยงดู
มารดาบิดาเป็นอุดมมงคล  เป็นเหตุให้เกิดความเจริญ  ลองสังเกตุดูเถิดลูกคนใดที่กตัญญู  รู้คุณมารดาบิดา 
ลูกคนนั้นย่อมมีความสุขความเจริญไม่ตกต่ำจนตลอดชีวิต

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ธรรมะ  ๔  ประการคือ  อายุ  วรรณะ  สุขะ  พละย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติกราบไหว้ 
อ่อนน้อมต่อผู้เจริญคือผู้ใหญ่เป็นนิตย์  ผู้ที่กระทำการกราบไหว้  อ่อนน้อมต่อมารดาบิดาเป็นนิตย์ก็ย่อมได้รับพร 
๔  ประการนี้เช่นกัน

    คนที่ทำความดีมีการเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นต้นนั้น  อย่าว่าแต่คนด้วยกันจะยกย่องสรรเสริญ  ชื่นชม
อนุโมทนาเลย  แม้เทวดาทั้งหลายเมื่อทราบก็ยกย่องสรรเสริญและชื่นชมอนุโมทนาเช่นกัน

    ใน  ราชสูตร  อังคุตตรนิกาย  ติกนิบาต  ข้อ  ๔๗๖  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าว่า  ในวัน ๘ ค่ำ 
เทวดาผู้เป็นบริวารของท้าวจาตุมหาราช  ย่อมท่องเที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่าในหมู่มนุษย์  มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา 
เกื้อกูลแก่บิดา  เกื้อกูลแก่สมณพราหมณ์  อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล  อธิษฐานอุโบสถ  ปฏิบัติทำบุญมีอยู่หรือไม่ 
ในวัน ๑๔ ค่ำ  พวกโอรสของท้าวจาตุมหาราช  ย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ฯลฯ  ปฏิบัติทำบุญมีอยู่หรือไม่  ในวัน ๑๕
ค่ำ  ท้าวจาตุมหาราชย่อมท่องเที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่าในหมู่มนุษย์  มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา  เกื้อกูลแก่บิดา  เกื้อ
กูลแก่สมณพราหมณ์  อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล  อธิษฐานอุโบสถ  ปฏิบัติทำบุญมีอยู่หรือไม่

    ถ้าเทวดาเหล่านั้นเห็นมนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา  เกื้อกูลแก่บิดา  เกื้อกูลแก่สมณพราหมณ์  อ่อนน้อม
ต่อผู้ใหญ่ในสกุล   อธิษฐานอุโบสถ   ปฏิบัติทำบุญมีน้อย   เทวดาเหล่านั้นย่อมบอกถึงเหตุที่กล่าวมานั้นแก่พวก
เทวดาชั้นดางดึงส์  ที่มาประชุมกันอยู่ในสุธรรมสภาให้ทราบ  พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ฟังแล้วย่อมเสียใจว่า  คนที่
จะมาเกิดในสวรรค์มีน้อย  คนที่จะเกิดในอบายมีมาก

    จากพระพุทธดำรัสนี้  จะเห็นได้ว่า  คนที่ทำความดีมีการเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นต้น  ย่อมเป็นที่รักที่ชื่น
ชมของเทวดา  เป็นปัจจัยให้เทวดาเกิดกุศลจิต  ยินดีอนุโมทนา

    อย่าลืมว่า  การตอบแทนคุณมารดาบิดา  ด้วยการประพฤติปฏิบัติตัวดี   มีศีลธรรม   มีกตัญญูกตเวที 
เป็นการตอบแทนคุณ  ที่ทำให้มารดาบิดาชื่นอกชื่นใจ  ยิ่งกว่าหยิบยื่นเงินทองให้เสียอีก  แต่มารดาบิดาจะชื่นใจ
ยิ่งกว่านั้น  หากลูกได้หยิบยื่นอริยทรัพย์  คือ  ศรัทธา  ศีล  จาคะ  ปัญญาให้แก่ท่าน  ถ้าท่านยังขาดอริยทรัพย์เหล่า
นั้น  ด้วยว่าทรัพย์ภายนอกมีแก้วแหวนเงินทองเป็นต้น  ถึงจะเป็นของมีค่า  แต่ก็ยังมีค่าน้อยกว่า  อริยทรัพย์  ทั้งนี้
เพราะทรัพย์ภายนอกอาจสูญหายไปได้ด้วยภัยนานาประการ  มีโจรภัย  อัคคีภัย  อุทกภัย  เป็นต้น   หรือแม้ทรัพย์
เหล่านั้นยังอยู่มิได้สูญหายไปด้วยภัยดังกล่าวนั้น  ถึงกระนั้นทรัพย์เหล่านั้นก็เป็นเจ้าของเพียงชั่วชีวิตนี้เท่านั้น  เมื่อ
ละโลกนี้ไปก็จะต้องทิ้งทรัพย์เหล่านั้นไว้เป็นสมบัติของผู้อยู่หลัง  แต่ทรัพย์ภายในมีศรัทธาเป็นต้น  มิได้เป็นเช่นนั้น
ย่อมเป็นของเราตลอดไป  ถึงเราจะละโลกนี้ไปแล้ว  ก็ยังติดตามไปให้ความสุขแก่เราในโลกหน้า  เป็นเสบียงเดิน
ทางไปในปรโลก  ตราบเท่าที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอันยาวไกลนี้

    ด้วยเหตุนี้  บุตรที่ชักนำหรือหยิบยื่นอริยทรัพย์  มีศรัทธาในพระรัตนตรัยเป็นต้นให้แก่มารดาบิดา 
จึงจัดเป็นบุตรที่เลิศ  เป็นอภิชาติบุตร  ประเสริฐสุดในบรรดาบุตรทั้งหลายที่เลี้ยงดูมารดาบิดา

    การเลี้ยงดูมารดาบิดา  จึงเป็นอุดมมงคล
๑๓.  การสงเคราะห์บุตรและภรรยา 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๓  การสงเคราะห์บุตรและภรรยา  ก็จัดเป็นอุดมมงคลอีกประการหนึ่ง 
โดยปกติแล้ว  มารดาบิดาย่อมเลี้ยงดูบุตรชายหญิงด้วยจิตเมตตา  ยามเล็กก็ให้นม  อาบน้ำ  ป้อนข้าวป้อนน้ำ 
ดูแลมิให้ยุงมดไรไต่ตอม  หาของเล่นมาให้  เมื่อโตการให้การศึกษา  หาสามีภรรยาให้  ยกมรดกให้  ที่สำคัญ
คือพร่ำสอนให้บุตรเป็นคนดี  มีศีลมีธรรม  ชักชวนให้ทำแต่บุญกุศล  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่ามารดา
บิดาพึงอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕๑ คือ
    ๑.  ห้ามไม่ให้บุตรทำชั่ว
    ๒.  สอนให้ตั้งอยู่ในความดี
    ๓.  ให้ศึกษาศิลปวิทยา
    ๔.  หาสามีภรรยาให้เมื่อถึงวัยอันสมควร
    ๕.  มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร  การสงเคราะห์บุตรอย่างนี้จัดเป็นอุดมมงคล
๑.สิงคาลกะสูตร  ที.  ปาฏิกวรรค  ข้อ  ๑๙๙


    ส่วนการสงเคราะห์ภรรยานั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงหน้าที่ของสามีที่มีต่อภรรยาไว้  ๕๑ 
สถานคือ
    ๑.  ยกย่องว่าเป็นภรรยา
    ๒.  ไม่ดูหมิ่น
    ๓.  ไม่ประพฤตินอกใจ
    ๔.  มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้
    ๕.  ให้เครื่องแต่งตัว (ตามฐานะ)
๑.สิงคาลกะสูตร  ที.  ปาฏิกวรรค  ข้อ  ๒๐๑


    การสงเคราะห์บุตรและภรรยาด้วยสถาน ๕  เหล่านี้จัดเป็นการสงเคราะห์บุตรและภรรยาในปัจจุบัน
ชาตินี้เท่านั้น  จึงควรที่สามีจะได้สงเคราะห์บุตรและภรรยาในชาติหน้า  ด้วยการให้บุตรและภรรยา  มีศรัทธา
ในพระรัตนตรัย ๑  ให้มีศีล ๕  ศีล ๘  กุศลกรรมบถสิบ ๑  ให้ได้ฟังพระธรรมเทศนา ๑  ให้บริจาคทาน  มีข้าว
น้ำเป็นต้น ๑  สอนให้พิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ๑

    ส่วนภรรยาเมื่อได้รับการสงเคราะห์จากสามีแล้ว  ก็ควรปรนนิบัติสามีให้ดี  ให้ความเคารพนับถือ 
มารดาบิดาและญาติของสามี  มีใจซื่อตรงไม่นอกใจสามี  รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้  ไม่ให้เสียหาย  เป็นต้น

    ในเรื่องการสงเคราะห์บุตรให้เข้าถึงพระรัตนตรัย  อันเป็นการให้อริยทรัพย์แก่บุตรนั้น  ดูตัวอย่างได้
จากท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี   ที่จ้างบุตรชายของท่านผู้ไม่มีศรัทธาในพระรัตนตรัยให้ไปฟังธรรม  และรักษา
อุโบสถด้วยทรัพย์ ๑,๐๐๐  บุตรดีใจอยากได้ทรัพย์ก็ไปวัดรักษาอุโบสถ  แล้วไม่ฟังธรรม  นอนหลับเสียตลอดวัน 
รุ่งเช้าก็ไปรับทรัพย์จากบิดา  ต่อมาท่านเศรษฐีก็จ้างให้บุตรฟังธรรมแล้วจดจำมาบอกด้วย  จะให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ 
บุตรดีใจไปวัดฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า   พระองค์ทรงบันดาลให้เขาจำไม่ได้   เขาจึงต้องตั้งใจฟังหลายครั้งจน
จำได้  และเข้าใจซาบซึ้งในรสพระธรรม  เขาฟังไปกำหนดไปก็ได้สำเร็จโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลในพระ
พุทธศาสนา  รุ่งเช้าก็ติดตามพระพุทธองค์ไปบ้าน  บิดาก็ยื่นทรัพย์ให้ เขาละอายใจไม่รับทรัพย์จากบิดา  พร้อม
ทั้งเล่าว่า  ตนไม่ยินดีในทรัพย์ทั้งหลายแล้ว  เพราะได้ดวงแก้วอันประเสริฐคืออริยมรรค  ท่านเศรษฐีดีใจเป็นอัน
มาก  เพราะฉะนั้นการสงเคราะห์บุตรหรือภรรยาก็ตาม  หากสงเคราะห์ให้ได้อริยทรัพย์ ดังเช่นท่านอนาถบิณฑิก
เศรษฐีสงเคราะห์บุตรชายของท่าน  จึงจักชื่อว่าเป็นการสงเคราะห์ที่ประเสริฐ  เลิศกว่าการสงเคราะห์อย่างอื่น

    การสงเคราะห์บุตรภรรยา  จึงจัดเป็นอุดมมงคลประการหนึ่ง
๑๔.  การงานไม่คั่งค้างอากูล 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๔  การงานไม่คั่งค้างอากูลเป็นอุดมมงคล  การงานในที่นี้หมายถึงการงานที่
ไม่มีโทษ  เป็นการงานที่ไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อน   หวังแต่จะให้งานนั้นนำความสุขความเจริญมาให้  เช่น
เป็นชาวนา   เมื่อถึงหน้าทำนา   ฝนตกมีน้ำพอเพียงก็ต้องรีบไถรีบหว่าน  ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง   จนกระทั่งน้ำแห้ง
ทำนาไม่ได้   ใครมีงานมีอาชีพอะไรที่เป็นอาชีพสุจริต   ก็ต้องขยันหมั่นเพียร   ทำงานตามอาชีพของตนให้สำเร็จ 
ลุล่วงไปโดยเรียบร้อย  ผู้ที่ขยันหมั่นเพียรทำการงานไม่คั่งค้างทำเสร็จตามเวลา  ย่อมได้รับประโยชน์มีการเป็นผู้
มีทรัพย์มาก  เป็นต้นในชาตินี้   ได้เป็นเทพบุตร  เทพธิดา   เสวยสุขสมบัติในสวรรค์ในชาติหน้า   สำหรับบุคคลที่
เจริญกัมมัฏฐาน  เจริญกัมมัฏฐานโดยติดต่อไม่ย่อท้อ  ก็ย่อมได้รับผลคือ  ฌาน มรรค ผล นิพพาน  เพราะฉะนั้น
ความขยันหมั่นเพียร  ทำการงานทุกชนิดที่ไม่มีโทษให้สำเร็จไม่คั่งค้างจึงเป็นอุดมมงคล   เพราะเป็นเหตุให้เกิด
ความสุขความเจริญ
๑๕.  ทาน การให้ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๕  ทาน  การให้ทานเป็นอุดมมงคล  ทานนั้นมีทั้งอามิสทานและธรรมทาน 
การให้สิ่งของด้วยเจตนาที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับชื่อว่าทาน  ส่วนวัตถุที่ให้ทานท่านแสดงไว้ ๔ อย่างก็มี  คือ
อาหาร   เครื่องนุ่งห่ม  ที่อยู่อาศัย   และยารักษาโรค  แสดงไว้  ๑๐  อย่างก็มี  คือข้าว  น้ำ  ผ้า  ยาน (พาหนะ) 
ดอกไม้  ของหอม  เครื่องลูบไล้  ที่นั่ง  ที่นอน  และประทีปดวงไฟ  การให้ทานนั้นเป็นการสละละความตระหนี่ 
ความหวงแหนออกจากใจ

    ของที่นำมาให้ทานนั้น  นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับแล้ว ยังควรเป็นของที่หามาได้โดยสุจริต
ชอบธรรม  มิได้ลักขโมยหรือฉ้อโกงเบียดเบียนเอามา

    ทานที่จะมีผลมากย่อมต้องประกอบไปด้วย
    ๑.  เจตนาที่ดีทั้งเวลาก่อนให้  กำลังให้  และให้แล้วก็ยินดีไม่เสียดาย
    ๒.  ของที่นำมาให้ทานต้องของที่หามาได้โดยชอบธรรม  เช่นซื้อหามาด้วยเงินทองที่หามาได้โดยสุจริต 
ไม่ใช่หามาได้โดยไม่ชอบธรรม  เช่นฆ่าสัตว์  อามาให้  หรือลักขโมยเขามา  ฉ้อโกงเขามาให้ทาน  เป็นต้น
    ๓.  ผู้ให้ก็มีศีล  ผู้รับก็มีศีล

    สำหรับผู้ให้ทานย่อมได้รับอานิสงส์  ๕๑  ประการคือ
    ๑.  เป็นที่รักของชนเป็นอันมาก
    ๒.  สัตบุรุษผู้สงบมีพระพุทธเจ้า  เป็นต้น  ย่อมคบหาผู้ให้ทาน
    ๓.  กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรขจายไป
    ๔.  ผู้ให้ทานย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์  คือ  ศีล ๕
    ๕.  ผู้ให้ทาน  ตายแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
๑.อัง.  ปัญจก.  ข้อ ๓๕


    ส่วนการให้ธรรม  จัดเป็นเลิศกว่าการให้อย่างอื่น  หากว่าการแสดงธรรมนั้นมุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่
ผู้ฟัง   และธรรมนั้นเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศไว้ดีแล้ว   ว่าเป็นนิยยานิกธรรม   คือธรรมที่นำ
สัตว์ออกจากทุกข์หรือนำสุขมาให้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

    ด้วยนี้  การให้ทานจึงเป็นอุดมมงคล

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่เทวดาที่มาทูลถามปัญหาใน  กินททสูตร  สังยุตตนิกาย  สคาถวรรค ข้อ
๑๓๘ ว่า

    บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง
    ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะผิวพรรณ
    ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข
    ให้ประทีปดวงไฟชื่อว่าให้ดวงตา
    ให้ที่พักอาศัยชื่อว่าให้ทุกอย่าง  คือให้ทั้งกำลัง  วรรณะผิวพรรณ  ความสุข  และดวงตา

    ส่วนผู้ที่สอนธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม  คือธรรมที่ไม่ตาย  เหมือนดังที่พระบรมศาสดาทรงพร่ำสอน
ธรรมแก่บรรดาสาวกทั้งหลาย   อันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายได้บรรลุอมฤตธรรม  คือนิพพานนับจำนวนไม่ได้ 
เพราะฉะนั้น  ธรรมทาน  จึงชนะการให้ทั้งปวง
๑๖.  การประพฤติธรรม 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๖  การประพฤติธรรม  เป็นอุดมมงคล  การประพฤติธรรมคือ  การประพฤติ
ดีประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ  อันได้แก่ประพฤติอยู่ในกุศลกรรมบถ  ๑๐  ประการหรือสุจริตกรรม  ๑๐  ประการ
คือ

    ๑.  งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งด้วยตนเองและใช้ผู้อื่นฆ่า
    ๒.  งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่อนุญาต
    ๓.  งดเว้นจากการประพฤติประเวณี
    ๔.  งดเว้นจากการพูดเท็จ
    ๕.  งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
    ๖.  งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
    ๗.  งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ
    ๘.  ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน
    ๙.  ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น
    ๑๐.  มีความเห็นถูกตรง  ไม่เห็นผิดเป็นมิจฉาทิฎฐิ   คือมีความเห็นว่ามารดาบิดามีคุณ นรกสวรรค์มี
จริง เป็นต้น

    การประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้  จัดเป็นอุดมมงคลเพราะเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุฌาน  มรรค
ผล  นิพพานในชาตินี้หรือชาติหน้า   เป็นปัจจัยให้เกิดแต่ในสุคติโลกสวรรค์เท่านั้น   หากยังไม่ปรินิพพานไปเสีย
ก่อน

    ด้วยเหตุนี้การประพฤติธรรมจึงเป็นอุดมมงคล

๑๗.  การสงเคราะห์ญาติ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๗  การสงเคราะห์ญาติ  เป็นอุดมมงคล  ญาติคือผู้ที่เกี่ยวข้องผูกพันกับเราทาง
มารดาบิดา  เมื่อเวลามีทุกข์เดือดร้อน  เราสามารถจะสงเคราะห์เขาด้วยอามิสมีข้าวของ เงินทอง เสื้อผ้า เครื่อง
ใช้ต่างๆ  เป็นต้น  หรือสงเคราะห์ด้วยธรรม  ให้เขาเชื่อกรรมและผลของกรรม  หรือแนะนำให้เขาได้บำเพ็ญกุศล
คือทาน  ศีล  ภาวนา  ฟังพระธรรมเทศนา  อันจะทำให้เขาเข้าใจความเป็นไปของชีวิตว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็น
ของตนเอง  เขาทำกรรมมาอย่างใด  ย่อมได้รับผลอย่าวนั้นอันจะช่วยให้เขาบรรเทาความทุกข์โศกลงได้บ้าง

    การสงเคราะห์ญาติจึงเป็นอุดมมงคล
๑๘.  การงานที่ไม่มีโทษ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๘  การงานไม่มีโทษเป็นอุดมมงคล  กุศลทั้งหมดที่เป็นไปทางกาย  ไม่ว่าจะ
เป็น  การให้ทาน   รักษาศีล   การช่วยกิจการงานของผู้อื่น   การปลูกป่า   การสร้างสะพาน   การสร้างวัดวาอาราม 
เป็นต้น  ชื่อว่าการงานไม่มีโทษทั้งสิ้นจัดเป็นอุดมมงคล  เพราะเป็นเหตุให้ถึงสุคติโลกสวรรค์  ตลอดจนเป็นปัจจัย
แก่มรรค  ผล  นิพพานด้วย  เหมือนอย่างบุรุษเข็ญใจคนหนึ่งเป็นตัวอย่าง

    ในอดีตกาลนานมาแล้ว  บุรุษเข็ญใจคนหนึ่งอาศัยอยู่กับอุปัฏฐากผู้เที่ยวป่าวประกาศให้คนทำบุญ  บุรุษ
นั้นเลื่อมใสในการกระทำนั้น   จึงเที่ยวป่าวประกาศให้คนทั้งหลายมาทำบุญ    พระราชาทอดพระเนตรเห็นคนมา
ทำบุญกันมาก  จึงตรัสถามราชบุรุษ  ราชบุรุษกราบทูลให้ทราบว่ามีบุรุษเข็ญใจคนหนึ่งได้ไปเที่ยวป่าวร้องชักชวน
ให้คนมาทำบุญ   พระราขาทรงเลื่อมใสประทานรางวัลให้เขา   เขาก็เที่ยวป่าวร้องไปทั่ว   คนทั้งหลายก็มาทำบุญ
มากกว่าเดิม   พระราชาจึงประทานช้างแก่เขา   เขาก็ขี่ช้างป่าวร้อง   ให้คนมาทำบุญ  ด้วยอานุภาพของการเที่ยว
ป่าวร้องให้คนมาทำบุญนี้เอง   ปากของเขาจึงมีกลิ่นหอมดังดอกอุบล   ตายไปได้บังเกิดในวิมานทองชั้นดาวดึงส์
เสวยสุขอันเป็นทิพย์   มาในสมัยของพระพุทธเจ้าของเรานี้   เขามาเกิดเป็นอำมาตย์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล 
ชื่อว่า  สันตติมหาอำมาตย์  ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระโลกนาถ  บรมศาสดาแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

    การทำการงานอันไม่มีโทษ  มีการป่าวร้องให้คนทั้งหลายมาทำบุญก็ยังมีอานิสงส์ใหญ่หลวงถึงเพียงนี้ 
ด้วยเหตุนี้การทำการงานอันไม่มีโทษจึงเป็นอุดมมงคลอย่างนี้
๑๙.  การงดเว้นจากบาป 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๙  การงดเว้นจากบาปเป็นอุดมมงคล  คำว่าบาป  ได้แก่อกุศลทุจริตทุกอย่าง
ที่ให้ผลเป็นทุกข์  มีการฆ่าสัตว์  เป็นต้น  บุคคลที่เห็นโทษของบาป  ไม่ยินดีในบาป  ย่อมจะละอาย และเกรงกลัว
บาป   ไม่กล้าทำบาป   เพราะเกรงผลของบาปที่จะติดตามมา  มีการถูกนินทา   เป็นต้นในปัจจุบัน  มีการเกิดใน
อบายเป็นสัตว์นรก   เป็นเปรต   เป็นอสุรกาย   เป็นสัตว์เดรัจฉานในอนาคต   เมื่อละอายบาปและเกรงกลัวบาปก็
ย่อมงดเว้นจากบาป  ทำแต่บุญคือสุจริตกรรม  มีการงดเว้นจากฆ่าสัตว์  เป็นต้น

    การงดเว้นจากบาปนี้  จะงดเว้นด้วยการสมาทาน   มีการสมาทานศีล ๕  ศีล ๘  ศีลอุโบสถจากพระ
ท่านก็ได้   หรือตั้งใจงดเว้นด้วยตนเองก็ได้   ซึ่งเมื่อมีเหตุที่จะทำให้ล่วงละเมิดศีลเกิดขึ้น   ก็เกิดความละอาย 
งดเว้นเสียได้   ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระโสดาบัน เป็นต้น  ท่านงดเว้นจากบาปอันเป็นเวรภัย ๕ ประการ 
มีการฆ่าสัตว์เป็นต้นได้โดยเด็ดขาด  เป็นสมุจเฉทวิรัติโดยไม่ต้องสมาทาน  ด้วยอำนาจอริยมรรคที่ท่านได้

    การงดเว้นจากบาปจึงเป็นเหตุให้เกิดความสุขความเจริญทั้งโลกนี้และโลกหน้า  เป็นเหตุให้ละเวรภัย
ทั้งปวง  และเป็นเหตุให้บรรลุคุณวิเศษมีมรรค  ผล  นิพพานได้ด้วย  ดังเรื่องของอุบาสกคนหนึ่งเป็นตัวอย่าง

    เล่ากันมาว่าอุบาสกคนหนึ่งอยู่ในบ้านทันตคาม  ใกล้ภูเขาได้สมาทานศีล   จากพระปิงคลพุทธรักขิต 
ที่อยู่ในอัมพริยวิหาร   ครั้นสมาทานศีลแล้วก็ไปไถนา   ไถนาแล้วก็ปล่อยโคไปกินหญ้า  โคเที่ยวไปกินหญ้าแล้ว
หายไป   อุบาสกนั้นเที่ยวตามหาโคขึ้นไปบนภูเขา  ถูกงูเหลือมตัวใหญ่เลื้อยมารัดเขาไว้เพื่อกินเป็นอาหาร  เขา
มีมีดเล่มหนึ่งอยู่ในมือ  คิดจะฟันงูนั้นให้ตายแต่ก็กลัวศีลจะขาด  เมื่องูนั้นรัดแน่นเข้าๆ  เขาจึงคิดว่าถ้าเขาฆ่างู 
งูก็ตาย   ศีลเราก็ขาด  อย่ากระนั้นเลยเรายอมตายแต่ไม่ยอมศีลขาด  คิดแล้วก็ขว้างมีดทิ้งไป  ตั้งจิตคิดถึงศีลที่
ตนรักษาเป็นอารมณ์   ด้วยอานุภาพแห่งศีลที่ตนรักษาดีแล้ว   บันดาลให้กายของอุบาสกนั้นร้อนดังไฟ   งูนั้นทน
ความร้อนไม่ได้ก็คลายตัวจากอุบาสกนั้นเลื้อยเข้าไปในป่า  อุบาสกนั้นก็รอดชีวิตกลับมาด้วยอานิสงส์ที่ศีลบริสุทธิ์
ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาศีลไว้   เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์แล้วจึงควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์   เพราะศีล
ที่รักษาดีแล้ว  เป็นปัจจัยให้ถึงสุคติและมรรค ผล นิพพาน

    ด้วยเหตุนี้การงดเว้นจากบาป  ด้วยการรักษาศีลเป็นต้น  จึงเป็นอุดมมงคล

๒๐.  การสำรวมจากน้ำเมา 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๐  การสำรวมจากน้ำเมาเป็นอุดมมงคล   น้ำเมานั้นท่านหมายถึงสุราและ
เมรัย  เป็นต้น  เมรัยได้แก่น้ำเมาที่เกิดจากการหมักดอง  เช่น  เมรัยที่ได้จากการหมักดองดอกไม้  และผลไม้ 
เป็นต้น

    ในสมัยก่อน  ท่านบัญญัติน้ำเมาไว้เพียงสุราและเมรัยเท่านั้น  แต่ปัจจุบันของมึนเมาที่มีโทษร้ายแรง
กว่าสุราและเมรัยมีมาก  เช่น  ผงขาว  เฮโรอีน  ยาม้า เป็นต้น  ก็สงเคราะห์เข้าในน้ำเมาด้วย  เพราะเป็นเหตุที่
ตั้งแห่งความประมาท  ขาดสติ  เมื่อประมาทขาดสติ   ก็สามารถจะทำบาปกรรมทุกอย่างได้โดยปราศจากความ
ละอาย  แม้การฆ่ามารดาบิดาและบุตรภรรยาอันเป็นที่รัก  ดังเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง

    ในอดีตกาลนานมาแล้ว  พระราชาเมืองพาราณสีองค์หนึ่งเป็นคนไม่มีศีล  เสวยแต่สุราเมรัย  แกล้ม
กับเนื้อ   วันใดใม่มีเนื้อพระองค์จะไม่เสวยพระกระยาหารเลย   วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถไม่มีใครฆ่าเนื้อ   พ่อครัว
ร้อนใจที่ไม่มีเนื้อถวาย  จึงเข้าไปกราบทูลพระอัครมเหสีให้ทรงทราบ   พระนางจึงตรัสว่า  ถ้าเช่นนั้นเมื่อจะนำ
พระกระยาหารเข้าไปถวายเราจะพาพระโอรสเข้าไปเฝ้าก่อน  ด้วยว่าพระโอรสเป็นที่รักสนิทเสน่หาของพระราชา 
พ่อครัวก็ทำตาม   ครั้นถึงเวลาอาหาร  พระอัครมเหสีก็ทรงนำพระโอรสเข้าไปก่อน  ขณะนั้นพระราชากำลังทรง
เมาสุเรา  ทอดพระเนตรเห็นพระโอรสก็ทรงอุ้มขึ้นประทับบนพระเพลาเชยชมด้วยความรัก   ครั้นพ่อครัวนำพระ
กระยาหาร   จึงตรัสถามพ่อครัว  พ่อครัวกราบทูลว่า  วันนี้เป็นวันอุโบสถหาเนื้อไม่ได้  พระเจ้าข้า  พระราชาด้วย
ความเมา   จึงทรงจับพระโอรสหักคอโยนให้พ่อครัว  รับสั่งให้ไปแกงเนื้อมาถวาย   พ่อครัวก็เอาเนื้อพระโอรสไป
แกงมาถวายให้เสวย  ครั้นเสวยแล้วก็บรรทมหลับไปตลอดราตรี  รุ่งเช้าสร่างเมาทรงเรียกหาพระโอรส  พระอัคร
มเหสีทรงกรรแสงทูลว่า พระโอรสถูกพระองค์หักคอตายตั้งแต่เมื่อวานนี้  ประทานให้พ่อครัวไปแกงเนื้อ  พระราชา
ทรงสดับแล้วทรงปริเทวนาการรำพันถึงพระโอรส  เมื่อทรงคลายความโศกแล้วทรงอธิษฐานว่า  ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป 
พระองค์จะไม่เสวยน้ำจัณฑ์อีก

    นี่ก็คือโทษของการดื่มน้ำเมา  เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า  การสำรวม (คืองดเว้น)  จากการ
ดื่มน้ำเมา  จึงเป็นอุดมมงคล
๒๑.  ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๑  ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลายเป็นอุดมมงคล  ก็ความไม่ประมาทนั้น
ได้แก่  สติ  ความระลึกได้  คือระลึกอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย   ไม่ว่าจะเป็นกุศลทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ  สติ
จึงเหมือนหางเสือเรือ  ที่จะทำให้เรือแล่นฝ่าอันตราย  ตรงไปสู่จุดหมายในที่สุด  คำว่าธรรมทั้งหลาย  จึงได้แก่กุศล
ธรรมทั้งหลายตั้งแต่กุศลขั้นทาน  ขั้นศีล  ไปจนถึงขั้นภาวนา  ซึ่งล้วนอาศัยสติความไม่ประมาททั้งสิ้นจึงเกิดขึ้นได้ 
เหมือนพระจักขุบาล  เป็นผู้ไม่ประมาท  สมาทานเนสัชชิกธุดงค์  คือไม่นอนตลอด ๓ เดือน  จนเกิดโรคตา  หมอให้
ยาตามาหยอด  ท่านก็ไม่ยอมนอนหยอดยา  แต่ได้บำเพ็ญเพียรเจริญกัมมัฏฐานโดยไม่ย่อท้อ  พอถึงวันออกพรรษา 
ตาทั้ง  ๒ ข้างของท่านก็บอดพร้อมกับการบรรลุเป็นพระอรหันต์

    นี่ก็คือผลของความไม่ประมาท  ไม่ขาดสติในกุศลธรรมทั้งหลายนั่นเอง  ความไม่ประมาทในธรรม
ทั้งหลายจึงเป็นอุดมมงคล
๒๒.  ความเคารพ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๒  ความเคารพเป็นอุดมมงคล  ความเคารพนั้นสามารถจะแสดงออกได้ทั้ง
ทางกาย  ทางวาจา  และทางใจ  พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเคารพไว้ในที่ ๗ สถานคือ

    ๑.  เคารพในพระพุทธเจ้า
    ๒.  เคารพในพระธรรม
    ๓.  เคารพในพระสงฆ์
    ๔.  เคารพในสิกขา  คือในศีลสิกขา
    ๕.  เคารพในสมาธิ  คือเคารพในสมาธิภาวนา
    ๖.  เคารพในความไม่ประมาท  คือระลึกในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
    ๗.  เคารพในปฏิสันถารการต้อนรับ  ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับด้วยอามิสมี  ข้าว  น้ำ เป็นต้นหรือต้อน
รับด้วยธรรมะ  มีการให้สติความไม่ประมาท  เป็นต้น

    ถ้าความเคารพทั้ง ๗ ประการนี้ยังดำรงอยู่ตราบใด  พระศาสนาก็ยังดำรงอยู่ไม่เสื่อมไปตราบนั้น  ผู้ที่
เคารพในฐานะทั้ง ๗ เหล่านี้  ชื่อว่าไม่เสื่อมจากสกุล ทั้งตั้งอยู่ใกล้นิพพานด้วย  ความเคารพจึงจัดเป็นอุดมมงคล
อีกประการหนึ่ง

๒๓.  การอ่อนน้อมถ่อมตน 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๓  การอ่อนน้อมถ่อมตน   ความประพฤติถ่อมตนเป็นอุดมมงคล   ความประ
พฤติถ่อมตนนั้นได้แก่ความไม่พองลม   คือไม่ยกตนข่มท่าน   ไม่ถือตัวว่ามีชาติตระกูลสูง   มีความรู้สูง   มียศสูง 
เป็นต้น  แล้วเหยียบย่ำดูถูกผู้ที่มีชาติตระกูลต่ำกว่า   มีความรู้น้อยกว่า   มียศต่ำกว่า  เป็นต้น   การยกตนข่มท่าน
จึงเป็นอกุศลประเภทมานะ  ทำให้เป็นคนกระด้างถือตัว  ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร  คนมีมานะจึงไม่น่ารัก  ขาดความ
อ่อนน้อม  เป็นที่รังเกียจของผู้คบหาในปัจจุบัน  และทำให้เกิดในตระกูลต่ำในภายหน้า  ทำให้พลาดจากคุณวิเศษ
ที่ควรจะได้   เหมือนดังครูสัญชัยเวลัฏฐบุตร   ที่เคยเป็นครูของท่านพระสารีบุตร  และท่านพระมหาโมคคัลลานะ 
ในสมัยที่ยังมิได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า  เดิมท่านทั้งสองบวชเป็นปริพาชกในสำนักของครูสัญชัย เรียนจนจบ
ความรู้ที่ครูสอนให้  เห็นว่ายังไม่ใช่ทางหลุดพ้น  จึงลาอาจารย์ไปแสวงหาทางหลุดพ้น ท่านพระสารีบุตรได้พบท่าน
พระอัสสชิอรหันตสาวก  ฟังธรรมของท่านแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบัน  เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็นำธรรมะ
ที่ได้ฟังนั้นไปเล่าให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นสหายฟัง ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
เช่นกัน  เมื่อท่านทั้งสองบรรลุธรรมแล้วก็ใคร่จะไปเฝ้าพระบรมศาสดา  ก่อนไปได้ชักชวนครูสัญชัยอาจารย์เก่าของ
ตนให้ไปด้วย  ครูสัญชัยทั้งๆ  รู้ว่าการไปเฝ้าพระบรมศาสดาเป็นการไปดีมีประโยชน์  แต่ด้วยมานะว่าตนเป็นครูมี
ลูกศิษย์ลูกหามาก  จะยอมตนเป็นศิษย์ของพระสมณโคดม  ซึ่งเด็กกว่าได้อย่างไร  จึงไม่ยอมไป เป็นเหตุให้พลาด
โอกาสคือมรรค  ผล  นิพพาน   ที่ควรจะได้   นี่คือโทษของมานะ   ความกระด้างถือตัว   ส่วนท่านพระสารีบุตรและ
พระมหาโมคคัลลานะ   เมื่อได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาบวชแล้วก็ได้เป็นพระอรหันต์และได้เป็นพระอัครสาวกขวา
ซ้ายของพระศาสดาด้วย

    ความมีมานะจึงไม่ดีเลย  ส่วนความไม่มีมานะ  ประพฤติถ่อมตนเป็นอุดมมงคล

๒๔.  ความสันโดษ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๔  ความสันโดษเป็นอุดมมงคล  ความสันโดษนั้นแปลว่าความยินดี  ซึ่งได้
แก่ความยินดี ๓ อย่างคือยินดีตามที่ได้มา ๑  ยินดีตามกำลัง ๑  ยินดีตามสมควร ๑  บุคคลที่ยินดีในฐานะทั้ง ๓ นี้
แล้วย่อมจะไม่โลภ  ไม่อยากได้  ไม่ต้องการเกินสมควร  การไม่รู้จักสันโดษจึงมีโทษ  ดังเรื่องของภิกษุณีรูปหนึ่ง
ในสมัยพุทธกาล

    ในกรุงสาวัตถี   อุบาสกเจ้าของไร่กระเทียมคนหนึ่งได้ปวารณาแก่สงฆ์ว่า   ผู้ใดต้องการกระเทียมก็
นิมนต์มาเอาไปได้   วันหนึ่งภิกษุณีชื่อถูลนันทาได้พาพวกภิกษุณีไปเก็บกระเทียมที่ไร่ของอุบาสกนั้นไปเป็นอัน
มาก   อุบาสกเห็นความโลภมากของพวกภิกษุณีก็ไม่พอใจกล่าวติเดียน   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบจึงทรง
บัญญัติ  ห้ามฉันกระเทียม  รูปใดฉันเป็นอาบัติปาจิตตีย์

    นี่คือโทษของความไม่รู้จักพอ  เพราะขาดสันโดษนั่นเอง  สันโดษจึงเป็นอุดมมงคลอีกประการหนึ่ง

๒๕.  ความกตัญญู 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๕  ความกตัญญูเป็นอุดมมงคล  กตัญญูนั้นคือความเป็นผู้รู้คุณ  ที่ผู้อื่น
กระทำแล้วแก่ตน   เมื่อใครเขาทำคุณให้แก่เรา   ไม่ว่ามากหรือน้อย   ก็นึกถึงคุณของเขา   คิดจะตอบแทนคุณ
ของเขา  การตอบแทนคุณเรียกว่า  กตเวที   กตัญญูจึงมาคู่กับกตเวทีเสมอ   พระพุทธเจ้าตรัสถึงบุคคลที่หาได้
ยาก  ๒  จำพวกคือ 

    บุพการี  ผู้ที่กระทำคุณแก่เราก่อนมีบิดามารดา  ครู  อาจารย์  เป็นต้น ๑ 
    กตัญญูกตเวที  ผู้ที่รู้คุณที่เขาทำแล้วแก่ตนและตอบแทนคุณผู้นั้น   มีการตอบแทนคุณ  มารดาบิดา
ครูอาจารย์  เป็นต้น ๑

    ก็มารดาบิดา  ท่านให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามาก่อนใครๆ  ส่วนครูอาจารย์ก็ให้วิชาความรู้แก่เรารอง
มาจากบิดามารดา   ท่านเหล่านี้จึงเป็นผูทำคุณแก่เราก่อน  สมควรที่เราจะตอบแทนคุณท่านในเมื่อมีโอกาส 
การกระทำเช่นนี้ได้รับการยกย่องสรรเสริญในเวลามีชีวิตอยู่  กับเป็นเหตุให้เกิดในสุคติโลกสวรรค์เมื่อตายไป
แล้ว

    เรื่องราวของผู้ที่มีความกตัญญูนั้นมีมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน   อย่างท่านพระอานนท์กตัญญูรู้คุณ
ของพระบรมศาสดา   ยอมเอาตนเข้าขวางช้างนาฬาคีรีที่พระเทวทัตปล่อยมา   หวังจะให้ทำร้ายพระพุทธเจ้า 
แต่ด้วยอำนาจพระเมมตา   ช้างไม่อาจทำร้ายพระพุทธเจ้าได้   แม้ท่านสารีบุตรก็ได้รับยกย่องจากพระบรม
ศาสดาว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที  กล่าวคือท่านพระสารีบุตรเคยได้อาหารทัพพีหนึ่งจากราธะพราหมณ์ก็
ไม่ลืม   เมื่อราธะพราหมณ์ต้องการจะบวชเมื่อแก่  พระสงฆ์ไม่ยอมบวชให้  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า 
ใครรู้จักพราหมณ์ผู้นี้บ้าง  ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า  ท่านรู้จัก  เพราะเคยถวายอาหารแก่ท่าน  ๑  ทัพพี 
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรับสั่งให้  ท่านพระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์บวชให้   ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาเป็นภิกษุ
ในพระศาสนา

    ความกตัญญูรู้คุณท่าน   จึงเป็นเหตุให้ได้รับความสุข   ความเจริญทั้งในโลกนี้และโลกหน้า   ความ
กตัญญู  จึงจัดเป็นอุดมมงคลอีกประการหนึ่ง

๒๖.  การฟังธรรมตามกาล 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๖  การฟังธรรมตามกาลเป็นอุดมมงคล  อรรถกถาท่านกล่าวว่า  บุคคล
ใดมีใจฟุ้งซ่าน  ถูกวิตกอย่างใดย่างหนึ่งมีกามวิตก  คือการตรึกถึงกามเป็นต้นครอบงำ  การฟังธรรมเพื่อขจัด
ความฟุ้งซ่านในขณะนั้น  เรียกว่าการฟังธรรมตามกาล  เพราะละอกุศลวิตกเป็นต้นได้

    อีกอย่างหนึ่ง  การเข้าไปหากัลยาณมิตรแล้วฟังธรรม  เพื่อกำจัดความสงสัยในกาลใด  กาลนั้นชื่อว่า
การฟังธรรมตามกาล   การฟังธรรมตามกาลจัดเป็นอุดมมงคล   เพราะเป็นเหตุให้ได้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ 
มีการละนิวรณ์เป็นต้นได้  นอกจากนั้นยังกำจัดกิเลสให้สิ้นไปได้ด้วย

    การฟังธรรมมีอานิสงส์ถึง  ๕*  ประการคือ
    ๑.  ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ฟัง
    ๒.  แม้ฟังแล้วเมื่อได้ฟังซ้ำอีกย่อมเข้าใจและจำได้
    ๓.  ทำให้บรรเทาหรือคลายความสงสัยได้
    ๔.  ทำความเห็นให้ถูกตรง  ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ
    ๕.  จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
*อัง.  ปัญจกนิบาต  ข้อ ๑๐๒


    ส่วนการฟังธรรมตามกาลมีอานิสงส์  ๕*  ประการ  ดังที่ท่านพระนันทกะแสดงให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า
    ๑.  ผู้ฟังย่อมเป็นที่รักที่พอใจ  เป็นที่ยกย่องของพระศาสดา
    ๒.  ผู้ฟังย่อมซาบซึ้งในอรรถะและธรรมะ  คือเหตุและผลของธรรมนั้นๆ
    ๓.  ย่อมแทงตลอดในธรรมะนั้นๆ
    ๔.  ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากเพื่อนพรหมจรรย์
    ๕.  ทำให้ปรารภความเพียร  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่แจ้ง
*อัง.  นวกนิบาต  ข้อ ๒๐๘


    อีกอย่างหนึ่ง  พระบรมศาสดาตรัสว่า  การฟังธรรมตามกาลอันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ  ให้เป็นไปโดย
ชอบ  ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ

    ส่วนอาจารย์บางท่านกล่าวว่า
    ๑.  การฟังธรรมเป็นเหตุให้พระศาสนารุ่งเรืองอยู่ได้นาน
    ๒.  ตายไปแล้วได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์
    ๓.  จะได้ตรัสรู้มรรคผล
    ๔.  เป็นอุปนิสสัยปัจจัยไปในภพภายหน้า

    ดังเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง
    แม่ไก่ตัวหนึ่งฟังภิกษุรูปหนึ่งสาธยายธรรม  ด้วยความเลื่อมใส  ถูกนกเหยี่ยวโฉบไป  มีจิตนึกถึงเสียง
พระธรรมนั้นตายไปบังเกิดเป็นธิดากษัตริย์  ออกบวชเจริญฌานตายแล้วไปเกิดในพรหมโลก  จุติจากพรหมโลก
มาเกิดเป็นลูกเศรษฐี   ตายแล้วไปเกิดเป็นสุกร  ได้เห็นพระพุทธเจ้ามีจิตเลื่อมใส  ตายแล้วเกิดเป็นธิดากษัตริย์
อีก   จากนั้นไปเกิดในบ้านคามวาสีเป็นลูกพ่อค้า  แล้วเกิดเป็นลูกกุฎุมพีในเมืองอนุราะชื่อสุมนา  เมื่อเป็นสาวได้
เป็นภริยาของมหาอำมาตย์  อยู่มาวันหนึ่งพระอุตตระพาภิกษุสงฆ์เข้าไปบิณฑบาตที่บ้านของนางสุมนา  เห็นนาง
แล้วก็กล่าวว่า  ลูกสุกรมาเกิดในที่นี้แล้ว  นางได้ฟังว่าตนเคยเกิดเป็นลูกสุกรก็สลดใจ  เกิดความเบื่อหน่าย จึงลา
สามีออกบวชเป็นภิกษุณี  เจริญสติปัฏฐาน ๔ จนเกิดวิปัสสนาญาณ  บรรลุเป็นพระอรหันต์  นี่ก็ด้วยอานิสงส์ของ
การฟังธรรมตั้งแต่ครั้งยังเป็นแม่ไก่   อันเป็นอุปนิสัยปัจจัยสืบต่อกันมาเป็นลำดับถึง  ๑๒  ชาติจึงบรรลุ  มรรคผล 
เป็นพระอรหันต์  เป็นการสิ้นสุดวัฏฏะอย่างแท้จริง

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมตามกาลจึงเป็นอุดมมงคล
๒๗.  ความอดทน 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๗  ขันติ  ความอดทน  อดกลั้นเป็นอุดมมงคล  บุคคลที่อดทนต่อคำด่าว่า 
อดทนต่อความเจ็บใจ  อดทนต่อความเย็น  ความร้อน  ไม่หวั่นไหวในอารมณ์อันไม่น่าชอบใจ  จัดเป็นผู้มีขันติ 
เป็นผู้ที่พระบรมศาสดาทรงยกย่อง  สรรเสริญ  เพราะบุคคลเช่นนี้ย่อมสามารถบรรลุคุณวิเศษได้

    ขันติย่อมมีได้เพราะอาศัยหิริ  ความละอายบาป  และโอตตัปปะ  ความสะดุ้งเกรงกลัวบาป  พูดง่ายๆ 
คือเห็นโทษของโทสะ  ความโกรธ  ความไม่ชอบใจ   ซึ่งเป็นธรรที่ตรงข้ามกับขันติ   คือ   อโทสะ  ความไม่โกรธ 
ผู้ที่อดทนได้ไม่โกรธตอบจึงเป็นที่ยกย่องของบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น  แม้ผู้ที่เห็นโทษของการเกิด
แล้ว  อดทนต่อความทุกข์ที่ได้รับก็จัดเป็นขันติ  ดังขันติความอดทนของพระเตมีย์โพธิสัตว์ที่ไม่ยินดีในราชสมบัติ
เพราะเกรงว่าเมื่อเสวยราชสมบัติแทนพระราชาบิดาแล้ว  จะต้องฆ่าคน  อันเป็นเหตุให้ตกนรกจึงสู้ทนทำเป็นคน
ใบ้อยู่ถึง ๑๖ ปี  นี่จัดเป็นยอดของขันติ

    หรืออย่างที่ภิกษุที่เจริญกัมมัฏฐานรูปหนึ่ง  เจริญกัมมัฏฐานอยู่ในถ้ำใกล้เจติยบรรพต   ที่นั้นน้ำค้าง
ตกมาก   อากาศหนาวเย็น  จนท่านเป็นเหน็บชาไปทั้งกาย   ท่านพิจารณาว่าความหนาวในที่นี้ยังน้อยกว่าความ
หนาวเย็นในโลกันตนรก  ซึ่งหนาวเย็นจนร่างกายของสัตว์ละลายได้  ท่านพิจารณาอย่างนั้นแล้ว  มีขันติ  อดทน
ต่อความหนาวโดยไม่หวั่นไหว   แล้วก็ได้สำเร็จมรรคผล   ขันติความอดทนจึงมีประโยชน์มาก   เพราะสามารถ
ทำลายบาปอกุศลได้  นี่เป็นตัวอย่างของผู้ที่อดทนต่อความหนาว  เพราะเห็นภัยในนรก

    บางท่านเห็นภัยอันเกิดจากความร้อนในอเวจีมหานรก  จึงสู้อดทนต่อความร้อนในเมืองมนุษย์  เร่ง
บำเพ็ญเพียร   เจริญสมณธรรมจนได้บรรลุมรรคผล  เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า  ขันติเป็นอุดม
มงคล  เพราะเป็นเหตุให้ถึงนิพพานในที่สุด
๒๘.  ความเป็นผู้ว่าง่าย 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๘  ความเป็นผู้ว่าง่ายเป็นอุดมมงคล  ผู้ไม่มีมานะ  มีใจเบิกบาน  น้อมรับ
คำสอนของบัณฑิตโดยเคารพ  ผู้นั้นเรียกว่าเป็นผู้ว่าง่าย   ผู้ว่าง่ายย่อมได้รับประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า  ไม่มี
ใครรังเกียจที่จะแนะนำสั่งสอน  ดังเรื่องของท่านพระราธะผู้บวชเมื่อแก่โดยมีท่านพระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์  ท่าน
พระสารีบุตรจะแนะนำสั่งสอนอย่างใดก็รับฟังและปฏิบัติตามโดยเคารพ  มิได้ทะนงตนว่าเป็นผู้แก่กว่า  ในไม่ช้าก็
ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  นี่ก็เพราะความเป็นผู้ว่าง่ายนั่นเอง  ความว่าง่ายจึงเป็นอุดมมงคล

    ส่วนความเป็นผู้ว่ายากนั้น  เป็นอวมงคล  มีโทษมากดังเรื่องของนันทยักษ์   ซึ่งเห็นท่านพระสารีบุตร
นั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ในที่แจ้ง  จึงบอกกับเพื่อนเพื่อนยักษ์ด้วยกันว่า  สหาย   เราจะตีศีรษะสมณะผู้นี้ให้ท่านดู 
เพื่อนยักษ์ก็ห้ามไม่ให้ทำ  เพราะสมณนั้นมีฤทธิ์มาก  มีอานุภาพมาก  ทั้งมีคุณสูงยิ่ง  เพื่อนยักษ์ห้ามถึง ๓ ครั้ง 
นันทยักษ์ก็ไม่เชื่อฟังยังขืนเอากระบองตีศีรษะท่านอย่างแรง  แต่ท่านพระสารีบุตรก็ไม่เป็นอันตรายใดๆ  เพียง
แต่เจ็บศีรษะนิดหน่อย  ส่วนนันทยักษ์เองกลับถูกแผ่นดินสูบลงไปไหม้อยู่ในอเวจีมหานรก  ทั้งนี้ก็เพราะความว่า
ยากของนันทยักษ์ที่ไม่เชื่อคำตักเตือนของเพื่อน

    เพราะฉะนั้นความว่ายากจึงมีโทษ  ส่วนความว่าง่ายมีแต่คุณ  ความว่าง่ายจึงเป็นอุดมมงคล

๒๙.  การเห็นสมณะ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๙  การเห็นสมณะเป็นอุดมมงคล  คำว่าสมณะ  แปลว่าผู้สงบ  ในที่นี้สมณะ
หมายถึงบรรพชิตหรือนักบวช  ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมกายวาจาใจ  และปัญญา  เพื่อดับกิเลสมาแล้วเป็นอย่างดี 
หรือ  หมายถึงสมณะที่หมดจดจากกิเลส   เป็นพระอรหันต์แล้ว   การได้เห็น  ได้เข้าใกล้  ได้ฟัง  ได้ระลึกถึง 
ได้อุปัฏฐาก  บำรุงบรรพชิตทั้งหลาย  ผู้ถึงพร้อมด้วยความฝึกตนอย่างสูง ย่อมเป็นเพื่อความสงบระงับจากกิเลส 
แม้พระพุทธเจ้าของเราก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า   ก็ทรงพบเห็นสมณะคือพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ
มาแล้วถึง ๒๔ พระองค์  ได้เข้าใกล้  บำรุงและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเหล่านั้นมาก่อน  จึงสามารถตรัสรู้เป็น
พระพุทธเจ้าได้  แม้พระสาวกทั้งหลายก็เช่นกัน

    ท่านกล่าวว่าเมื่อได้พบเห็นสมณะแล้ว  ยังไม่ต้องยกมือเคารพ  เพียงแต่แลดูด้วยความรักและความ
เลื่อมใสเท่านั้น  ก็จะเป็นผลให้นัยน์ตาแจ่มใส ไม่ฝ้าฟาง ไม่เป็นต้อนับเป็นพันชาติทั้งจะได้สมบัติในเมืองมนุษย์
และเทวดาถึงแสนกัป

    การที่บุคคลได้รับมนุษย์สมบัติ  เพราะได้พบเห็นสมณะมาก่อนนั้นไม่น่าอัศจรรย์   เพราะมนุษย์เป็น
สัตว์ที่มีปัญญา  แต่สัตว์เดรัจฉานมีแต่ความเชื่อความเลื่อมใส  ขาดปัญญา  เมื่อได้เห็นสมณะแล้วได้สมบัติใน
สวรรค์นั่นซิน่าอัศจรรย์  ดังเรื่องของนกเค้าตัวนี้

    เรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่  ถ้ำอินทสาละคูหา  เขตเมืองราชคฤห์  นกเค้าตัว
หนึ่งอาศัยอยู่ที่ถ้ำนั้น   ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเลื่อมใส   เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต  ก็
ได้บินตามไปส่ง   เมื่อเสด็จกลับก็บินมารับ   วันหนึ่งนกเค้าบินลงมาจากภูเขา   ประคองปีกทั้งคู่น้อมศีรษะลงกระ
ทำอัญชลี  พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงแย้มพระโอษฐ์  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  นกเค้าตัวนี้
มีจิตเลื่อมใสโสมนัส  ในเราทั้งหลาย  ผู้มีศีลงาม  มีธรรมงามในครั้งนี้  ตายไปจะเกิดอยู่สุคติถึงแสนกัป  แล้วจะได้
ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อโสมนัส   ด้วยอานิสงส์ที่ได้เห็นพระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกแล้วเกิดความโสม
นัสเลื่อมใส  นี่คือผลของการได้เห็นสมณะแล้วเลื่อมใส

    ความจริงแล้ว   การได้เห็นสมณะผู้ปราศจากกิเลสนั้นเป็นมงคล   อย่างน้อยก็เป็นกุศลวิบากทางตา 
เมื่อเห็นท่านแล้วจิตของใครจะเลื่อมใสหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ถ้าเห็นแล้วเลื่อมใส  กุศลก็เกิด  แต่ถ้าเห็นแล้ว
จิตไม่เลื่อมใส  โทสะความไม่ชอบใจอันเป็นอกุศลก็เกิด  ในสมัยนี้เราอาจจะหาสมณะผู้งามพร้อมอย่างนั้นได้ยาก 
ถึงกระนั้นการเห็นนั้นก็ยังจัดเป็นมงคลเพราะได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์  อันถือว่าเป็นธงชัยของพระอรหันต์  แล้วน้อม
จิตไปในพระคุณของพระพุทธเจ้า  ผู้เป็นพระประมุขแห่งสงฆ์  หรือน้อมจิตไปในคำสอนของท่าน  หรือน้อมจิตไป
ในพระคุณของพระอริยสงฆ์    เมื่อน้อมจิตไปอย่างนี้    ความเลื่อมใสโสมนัสย่อมเกิดขึ้นได้    การเห็นนั้นจึงเป็น
มงคล  อย่างสูงสุด  เพราะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ในเบื้องต้น  บรรลุมรรค  ผล  นิพพานในที่สุด

    การเห็นสมณะ  จึงเป็นอุดมมงคล
๓๐.  การสนทนาธรรมตามกาล 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๐  การสนทนาธรรมตามกาลเป็นอุดมมงคล  ในเรื่องนี้ท่านกล่าวว่า  ภิกษุผู้
ทรงพระสูตร ๒ รูปสนทนาพระสูตรกัน  ภิกษุ ๒ รูปผู้ทรงพระวินัย สนทนาพระวินัยกัน  ภิกษุ ๒ รูปผู้ทรงพระอภิธรรม
สนทนาพระอภิธรรมกัน  ภิกษุผู้กล่าวชาดก  สนทนาชาดกกัน  ภิกษุผู้สนใจศึกษาอรรถกถา  ก็สนทนาอรรถกถากัน 
เพื่อชำระจิตที่ถูกความหดหู่  ความฟุ้งซ่าน  หรือความสงสัยครอบงำ  ในเวลาพลบค่ำ หรือในเวลาย่ำรุ่ง  การสนทนา
ธรรมตามกาล  ตามเวลา  อย่างนี้ชื่อว่า  การสนทนาธรรมตามกาล  ก็การสนทนาธรรมตามกาลนี้  นอกจากจะช่วย
บรรเทาความหดหู่  ฟุ้งซ่าน  ความสงสัย  เป็นต้นแล้ว  ยังเป็นเหตุให้ได้รับคุณทั้งหลายมีความฉลาดในปริยัติธรรม 
เป็นต้น

    ผู้ที่สนทนาธรรมตามกาลย่อมได้อานิสงส์ ๕* ประการคือ
    ๑.  เป็นที่ยกย่องของพระศาสดา
    ๒.  ย่อมเข้าใจเนื้อความของธรรมนั้นๆ
    ๓.  ย่อมแทงตลอดเนื้อความอันลึกซึ้งด้วยปัญญา
    ๔.  ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากเพื่อนพรหมจรรย์
    ๕.  ย่อมปรารภความเพียร  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่แจ้ง  สำหรับผู้ที่จบกิจพรหมจรรย์  ย่อม
ประกอบธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน (คือเข้าฌานหรือผลสมาบัติ)
*นันทกะสูตร อํ. นวก.  ข้อ  ๒๐๘


    ด้วยเหตุนี้การสนทนาธรรมตามกาลจึงเป็นอุดมมงคล

๓๑.  ความเพียรเผากิเลส 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๑  ตโป  ความเพียรเป็นความเพียรเผากิเลส  เป็นอุดมมงคล

    ชื่อว่า  ตบะ  เพราะเผาบาปธรรมทั้งหลาย  อินทรียสังวร  การสำรวมอินทรีย์ก็ดี  วิริยะความเพียรที่
เป็นกุศลก็ดี  ชื่อว่า  ตบะ

    อินทรียสังวร  ชื่อว่า  ตบะ  เพราะป้องกันจิตไม่ให้ตกไปในความยินดีและยินร้าย  การมีสติระลึกรู้อยู่
ในลักษณะของรูปนาม  ที่มาปรากฎทาง  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  ชื่อว่าอินทรียสังวร  การสำรวมอินทรีย์

    วิริยะ  ความเพียรนั้นมีทั้งเพียรในกุศลและอกุศล  ความเพียรในกุศลเท่านั้นจัดเป็นตบะ  เพราะเผา
อกุศล  ทำให้กุศลเจริญขึ้น

    ตัวอย่างของผู้ไม่สำรวมอินทรีย์มีโทษอย่างไร  พีงเห็นได้จากเรื่องนี้

    สามเณรรูปหนึ่งได้ฌานสมาบัติ   เวลาไปบิณฑบาตก็เหาะไป   วันหนึ่งเหาะมาลงที่บ้านของนายช่าง
หูก  ได้เห็นธิดาของนายช่างหูกมีรูปร่างหน้าตางดงาม  มิได้สำรวมตาได้มองดูเธอด้วยความกำหนัดยินดี  เป็น
เหตุให้กามราคะ  ความยินดีในกามเกิดขึ้น  ฌานจึงเสื่อม  ไม่อาจเหาะกลับไปยังสำนักได้  นี่คือโทษของความ
ไม่สำรวมอินทรีย์คือตา

    เพราะฉะนั้นการสำรวมอินทรีย์คือตา  เป็นต้นจึงจัดเป็นตบะ  เครื่องเผาบาปธรรม  จัดเป็นอุดมมงคล
ประการหนึ่ง

๓๒.  การประพฤติพรหมจรรย์ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๒  พรหมจรรย์เป็นอุดมมงคล  พรหมจรรย์หมายถึงความประพฤติประเสริฐ 
ในที่นี้หมายถึงการเว้นจากเมถุนธรรม ๑  สมณธรรม ๑  ศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ๑  และมรรคอีก ๑

    บางแห่งท่านกล่าวว่า  พรหมจรรย์มี ๑๐ อย่างคือ
    ๑.  ทาน  การให้ข้าว  น้ำ  เป็นต้น
    ๒.  เวยยาวัจจะ  การช่วยเหลือในกิจการที่เป็นกุศลด้วยความเต็มใจ
    ๓.  ศีล ๕  มีการไม่ฆ่าสัตว์  เป็นต้น
    ๔.  อัปมัญญา  การเจริญพรหมวิหาร ๔  มีเมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา
    ๕.  เมถุนวิรัติ  การไม่เสพเมถุน
    ๖.  สทารสันโดษ  คือการยินดีเฉพาะคู่ครองของตน  (ยินดีแต่สามีภรรยาของตน)
    ๗.  วิริยะ  ความเพียรในการทำกุศล
    ๘.  อุโบสถศีล  การรักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘
    ๙.  อริยมรรคมีองค์ ๘  มีสัมมาทิฏฐิ  จนถึง  สัมมาสมาธิ
    ๑๐.  ศาสนา  คำสอนของพระพุทธเจ้า
    ทั้ง ๑๐ อย่างนี้เรียกว่าพรหมจรรย์  เพราะเป็นความประพฤติอันประเสริฐจัดเป็นอุดมมงคล  คือเป็น
เหตุให้เกิดความเจริญและได้รับคุณวิเศษนานาประการ

๓๓.  การเห็นอริยสัจ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๓  การได้เห็นอริยสัจเป็นอุดมมงคล  การเห็นแจ้งแทงตลอด  อริยสัจ ๔ 
คือ  ทุกข์   สมุทัย  นิโรธ  และมรรค   ด้วยอริยปัญญานั้นเป็นการเห็นแจ้งที่เกิดขึ้นเมื่ออริยมรรคทั้ง  ๘  องค์มี
สัมมาทิฏฐิ  เป็นต้น  มาประชุมพร้อมกันเป็นมรรคสมังคี  ทำลายกิเลสให้ขาดจากสันดานก้างล่วงวัฏทุกข์เสียได้
จัดเป็นการเห็นอย่างยอดเยี่ยม
๓๔.  การทำนิพพานให้แจ้ง 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๔  การทำนิพพานให้แจ้งเป็นอุดมมงคล  มงคลข้อนี้สืบต่อมาจากมงคล
ข้อที่ ๓๑, ๓๒  และ ๓๓  เพราะบุคคลจะทำนิพพานให้แจ้งได้  ก็เพราะเพียรประพฤติมรรคพรหมจรรย์  จนเห็น
แจ้งอริยสัจ  ๔

    การทำนิพพานให้แจ้งนั้น  ทำให้พ้นจากคติทั้ง  ๕  คือนิรยคติ  เปตคติ  ดิรัจฉานคติ  มนุสสคติ  และ
เทวคติ  ตลอดจนก้าวพ้นจากตัณหาเครื่องร้อยรัดได้  เพราะฉะนั้นการทำนิพพานให้แจ้ง  จึงเป็นอุดมมงคล
๓๕.  จิตไม่หวั่นไหวเมื่อถูกโลกธรรมกระทบแล้ว 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๕  จิตของบุคคลใดไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้งหลายที่ถูกต้องคือ
มากระทบแล้วเป็นอุดมมงคล

    คำว่า  โลกธรรม  ได้แก่ธรรมดาโลก  กล่าวคือโลกยังดำรงอยู่ตราบใด  ธรรมของโลกเหล่านี้ก็คง
เป็นไปคือหมุนไปตามโลกตราบนั้น  โลกธรรมนั้นมี ๘ อย่างคือ  ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข  เสื่อมลาภ  เสื่อมยศ 
นินทา  ทุกข์  โลกธรรมทั้ง ๘  นี่ย่อมติดตามโลกคือสัตว์โลกไปเป็นธรรมดา ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธเจ้าและพระ
อริยเจ้าทั้งปวง  เพียงแต่ว่าเมื่อใครถูกโลกธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว   จะมีจิตหวั่นไหวหรือไม่   คำว่า
ไม่หวั่นไหวนั้นหมายถึง  ไม่ยินดี  เมื่อได้มา  และเดือดร้อนใจเมื่อเสื่อมไป   พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านไม่ยินดี
เมื่อได้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  และไม่เดือดร้อนใจ  เมื่อเสื่อมลาภ  เสื่อมยศ  ถูกนินทา  และได้รับความทุกข์ 
ทั้งนี้เพราะท่านมองสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริงว่า  สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง  เป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้  เป็นอนัตตา
ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ใด  ท่านจึงไม่หวั่นไหว  ถึงกระนั้นพระอริยเจ้าที่ยังมิใช่พระอรหันต์บางท่าน  ก็ยังหวั่นไหว
ในโลกธรรมบางอย่าง ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมบางอย่าง  พระอรหันต์จำพวกเดียวเท่านั้นที่มั่นคง  ไม่หวั่นไหว
ในโลกธรรมทั้ง ๘ อย่างแท้จริง

    ขอยกตัวอย่างความไม่หวั่นไหวของพระอรหันต์ท่านหนึ่งดังนี้

    ได้ยินมาว่าท่านพระอนุรุทธะ องค์อรหันต์ผู้เป็นเลิศในฝ่ายตาทิพย์ วันหนึ่งท่านเดินทางไกลจะไปเมือง
สาวัตถี  ใกล้ค่ำจึงแวะพักที่โรงพักหน้าบ้านของหญิงหม้ายคนหนึ่ง  หญิงหม้ายนั้นเห็นท่านพระอนุรุทธะมีรูปร่าง
งามก็ชอบใจใคร่จะได้เป็นสามี   จึงนิมนต์ท่านให้ขึ้นไปพักบนหอนั่ง  อันเป็นที่สบาย   เมื่อพูดจาประเล้าประโลม
ท่าน  ตั้งแต่พลบค่ำไปจนใกล้รุ่ง  จิตของท่านพระอนุรุทธะก็มิได้หวั่นไหว  หญิงหม้ายเห็นว่าไม่อาจทำให้พระเถระ
หวั่นไหวได้ ก็เกิดความละอายใจ  ประนมมือไหว้ขอขมาท่าน  ท่านก็ยกโทษให้

    เพราะฉะนั้น  ผู้ที่ถูกโลกธรรม ๘  กระทบแล้วไม่หวั่นไหวจึงเป็นอุดมมงคล
๓๖.  ความไม่เศร้าโศก 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๖  ความไม่เศร้าโศกเป็นอุดมมงคล  โดยปกติพระอนาคามีท่านเป็นผู้
ปราศจากความโศกแล้วโดยสิ้นเชิง  เพราะท่านละโทสะอันเป็นรากเหง้าของความโศกได้แล้วด้วยอนาคามิมรรค 
แต่ในมงคลข้อนี้ท่านมุ่งเอาจิตของพระอรหันต์เท่านั้นว่าไม่มีความเศร้าโศก

    บุคคลธรรมดาที่มิใช่พระอรหันต์  เมื่อกระทบกับอารมณ์อันไม่ชอบใจ  แล้วระงับความเศร้าโศกเสีย
ใจได้  ก็ยังเป็นมงคล  ดังเรื่องนี้

    พราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง  ทำนาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี  ครั้นข้าวแก่พอจะเกี่ยวได้  ก็เตรียม
ผู้คนที่จะเก็บเกี่ยวในวันรุ่งขึ้น   แต่คืนนั้นเกิดฝนตกหนัก  น้ำในแม่น้ำอจิรวดีไหลบ่ามาท่วมนา   และพัดพาเอา
ข้าวกล้าไปหมด  พราหมณ์เศร้าโศกเสียใจ   ร้องไห้ไม่เป็นอันกินอาหาร   พระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่ง
มรรคผลของพราหมณ์  จึงเสด็จมาที่บ้านของพราหมณ์แต่พระองค์  พราหมณ์เห็นแล้วก็ทูลนิมนต์พระศาสดา
ขึ้นประทับบนเรือนถวายบังคม   พระศาสดาทรงแสดงธรรมดับความโศกของพราหมณ์   มีอาทิว่า   สังขารทั้ง
หลายทั้งภายในทั้งภายนอก  ทั้งมีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครองล้วนไม่เที่ยง  มีความแปรปรวนไปเป็น
ธรรมดา  ตัวของเรายังไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามใจเราได้  ทั้งที่เรามีจิตวิญญาณแล้วเราจะไปหวังให้สิ่งที่ไม่
มีจิตวิญญาณ  รับรู้อะไรไม่ได้ให้เป็นไปตามใจของเราได้อย่างไร  สิ่งทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจของใคร  พราหมณ์
ได้ฟังแล้วก็คลายโศก  น้อมใจลงสู่ไตรลักษณ์ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน  คนที่เสื่อมลาภที่ยังเป็นปุถุชนย่อมเศร้า
โศกอย่างนี้  แต่เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนา  ละความโศกได้ในขณะนั้น  จึงสามารถบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ 
นี่คือคุณของความไม่เศร้าโศก

    ความไม่เศร้าโศกจึงเป็นอุดมมงคลอีกประการหนึ่ง
๓๗.  จิตที่ปราศจากธุลี คือกิเลส 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๗  จิตที่ปราศจากธุลีคือกิเลสเป็นอุดมมงคล ซึ่งท่านก็หมายเอาจิตของ
พระขีณาสพ  คือพระอรหันต์เท่านั้น  เพราะจิตของพระอรหันต์เป็นจิตที่ปราศจากธุลีคือกิเลส  มีราคะ  โทสะ 
โมหะ  เป็นต้น

    ขอยกตัวอย่างคนที่ยังมีกิเลสว่ามีโทษเพียงไร

    ชาย ๒ คนพี่น้อง น้องชายเกิดเป็นชู้กับภรรยาของพี่ชาย  ภรรยายุยงให้ฆ่าพี่ชายเสีย พี่ชายนั้นยังรัก
ภรรยาอยู่  ตายไปจึงเกิดเป็นงูเขียวอยู่ที่เรือนของตน  ภรรยาอยู่ที่ไหน  งูนั้นก็ไปอยู่ใกล้ๆด้วยความรัก  ภรรยาก็
ฆ่างูตาย  งูไปเกิดเป็นสุนัขในเรือนด้วยความรักภรรยา  เวลาภรรยาไปไหนก็ติดตามไปด้วย  จนเป็นเหตุให้ชาว
บ้านเยาะเย้ย   หญิงนั้นเกิดความอาย   จึงใช้อุบายฆ่าสุนัขเสีย  สุนัขยังรักภรรยาอยู่   ตายแล้วไปเกิดเป็นโคใน
บ้านนั้น  เมื่อโตก็ติดตามภรรยาไปนาอยู่เสมอ  เป็นที่เย้ยหยันของเพื่อนบ้าน  หญิงนั้นได้รับความอาย  จึงฆ่าโค
นั้นเสีย   ถึงอย่างนั้นโคก็ยังไม่คลายความรักที่มีต่อภรรยา   จึงได้เกิดเป็นลูกของหญิงนั้น   เมื่อคลอดแล้วระลึก
ชาติได้ว่า  หญิงนี้ได้ฆ่าเรามาแล้วหลายชาติ  จึงไม่ให้หญิงนั้นซึ่งเป็นมารดาในชาตนี้ถูกต้องตัว  ยายกับตาต้อง
เอาไปเลี้ยงไว้  ครั้นโตขึ้นก็เล่าเรื่องราวในอดีตชาติให้ฟัง  คนทั้งหลายได้ฟังแล้วก็สลดใจ  เมื่อเด็กโตขึ้น  ตาก็
พาหลานไปสู่วิหารแห่งหนึ่ง  แล้วทั้งตาและหลานก็ออกบวชตั้งใจเจริญสมณธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งคู่

    การมีกิเลสจึงเดือดร้อน  ปราศจากกิเลสจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง

    ด้วยเหตุนี้  จิตที่ปราศจากธุลีคือกิเลส  จึงเป็นอุดมมงคล
๓๘.  จิตที่เกษมจากโยคะ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๘  จิตที่เกษมจากโยคะเป็นอุดมมงคล ในข้อนี้ท่านก็หมายถึงจิตของพระ
อรหันต์เช่นกัน   เพราะปลอดจากโยคะทั้ง  ๔  มี  กามโยคะ  ทิฏฐิโยคะ  ภวโยคะ  และอวิชาโยคะ  โยคะนั้นเป็น
กิเลสประเภทประกอบสัตว์ไว้ในวัฏสงสาร  เมื่อปลอดจากโยคะ  คือปราศจากโยคะก็พ้นจากวัฏสงสาร

    จิตที่ปราศจากโยคะ  จึงเป็นอุดมมงคล

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงมงคล  ๓๘   ดังนี้แล้วได้ตรัสว่าบุคคลใดกระทำมงคลทั้งหลายดัง
กล่าวแล้ว  บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง  คือไม่พ่ายแพ้ข้าศึก ๔ อย่างคือ  ขันธมาร ๑  กิเลสมาร ๑ 
อภิสังขารมาร ๑  และเทวปุตตมาร ๑  แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง  ผู้ที่จะพ้นจากข้าศึกทั้ง ๔ ได้ ต้องเป็นพระอรหันต์ 
เมื่อไม่พ่ายแพ้ก็ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง   คือถึงความสวัสดีในทุกอิริยาบถและทุกสถานที่   ความเดือด
ร้อนอันเกิดจากการคบคนพาลเป็นต้นย่อมไม่มี

    ในเวลาจบพระธรรมเทศนา  คือมงคลสูตรนี้  มีเทวดาที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ถึงแสนโกฏิ  ที่เป็น
พระโสดาบัน  พระสกทาคามี  และพระอนาคามีนั้นมากมาย

    รุ่งเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล่าเรื่องนี้ให้ท่านพระอานนท์ฟัง  แล้วทรงให้ท่านอานนท์เรียนมงคล 
๓๘  ท่านพระอานนท์เรียนแล้ว  ก็บอกเล่าให้ภิกษุทั้งหลายเรียน  และได้มีผู้เล่าเรียนสืบต่อกันมาจนบัดนี้

    ท่านที่ต้องการความสุขความเจริญทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดจนเข้าถึงนิพพานพึงประพฤติตาม
มงคล  ๓๘ ประการนี้

    ก็เป็นอันจบมงคลสูตร  ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย  ขุททกปาฐะ  ข้อ  ๔-๕ 
และอรรถกถาเพียงเท่านี้