พุทธวจนะ
สำนักพิมพ์เอกอนันต์บุ๊ค
9/6 ม.1 ต.คลองโยง อ.พุทธทณฑล จ.นครปฐม
โทร. 089-6726781, 081-234-0960
  สร้างเสร็จเมื่อ 3/12/54 
96 ธรรมคือแรงใจ
พุทธวจนะอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าใน หนังสือเล่มนี้ ได้คัดลอกมา "พุทธวจนะในธรรมบท"  โดยอาจารย์ เส ฐียรพงษ์ วรรณปก โดยมีเจตนาให้คุณผู้อ่าน ได้ใกล้ชิดคำสอนและนำมาเป็นหลัก เป็นประโยชน์แก่ ชีวิตได้มากขึ้นด้วยพกพาได้ง่าย ชาวพุทธเราจะได้อยู่ ใกล้ๆ พระพุทธเจ้าเสมอ และมีชีวิตที่สงบเย็นขึ้นเมื่อปฏิบัติตามข้อธรรมนี้
กราบขอบคุณอาจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก มาในโอกาสนี้ด้วยความเคารพ
ขอให้ชาวพุทธจงมีความสุขในธรรมโดยทั่วกัน
ผู้จัดทำ
ไม่ด่าเขา ไม่เบียดเบียนเขา
ระมัดระวังในระเบียบข้อบังคับ
กินแต่พอดี นั่งนอนในที่สงัด
ฝึกจิตอยู่เสมอ
นี่เป็นคำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลาย

                                                         

ถึงแม้เงินตรา จะไหลมาดังห่าฝน
ความอยากของคนก็หาอิ่มไม่
กามวิสัยทั้งหลายมีความสุขจริงๆ น้อย
มากไปด้วยทุกข์
รู้ดังนี้แล้ว
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ย่อมไม่ยินดีในกามารมณ์
แม้ที่เป็นทิพย์
หากแต่ยินดีในทางสิ้นกิเลสตัณหา

                                                         

ผู้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม
และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ย่อมเห็นอริยสัจด้วยปัญญาชอบ คือ
ทุกข์, เหตุของทุกข์, ความดับทุกข์
และอริยมรรคแปด
อันเป็นทางดับทุกข์

                                                         

ในหมู่มนุษย์ ผู้จองเวรกัน
พวกเราไม่จองเวรใคร
ช่างอยู่สบายจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้เต็มไปด้วยเวร
พวกเราอยู่อย่างปราศจากเวร

                                                         

ไม่มีไฟใดเสมอด้วยราคะ
ไม่มีโทษใดเสมอด้วยโทสะ
ไม่มีทุกข์ใดเสมอด้วยเบญจขันธ์
ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบ

                                                         

ความหิว เป็นโรคอย่างยิ่ง
สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
รู้ความจริงข้อนี้แล้ว
(คนฉลาด) จึงทำพระนิพพานให้แจ้ง
เพราะพระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง

                                                         

ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง
ความรู้จักพอ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ความไว้วางใจกัน เป็นญาติอย่างยิ่ง
พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง

                                                         

ที่ใดมีของรัก ที่นั่นมีโศก
ที่ใดมีของรัก ที่นั่นมีภัย
เมื่อไม่มีของรักเสียแล้ว
โศกภัย ก็ไม่มี


ที่ใดมีความยินดี ที่นั่นมีโศก
ที่ใดมีความยินดี ที่นั่นมีภัย
เมื่อไม่มีความยินดีเสียแล้ว
โศก ภัย ก็ไม่มี

                                                         

ควรละความโกรธ ละมานะ
เอาชนะกิเลสเครื่องผูกมัดทุกอย่าง
ผู้ที่ไม่ติดอยู่ในรูปนาม
หมดกิเลสแล้ว
ทุกข์ก็ครอบงำเขาไม่ได้

                                                         

พึงเอาชนะความโกรธ
ด้วยความไม่โกรธ
พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี
พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้
พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์

                                                         

บุคคลควรพูดคำสัตย์จริง ไม่ควรโกรธ
แม้เขาขอเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรให้
ด้วยสถานะทั้งสามเหล่านี้
เขาก็อาจไปสวรรค์ได้

                                                         

อตุลเอย เรื่องอย่างนี้มีมานานแล้ว
มิใช่เพิ่งจะมีในปัจจุบันนี้
อยู่เฉยๆ เขาก็นินทา
พูดมาก เขาก็นินทา
พูดน้อย เขาก็นินทา
ไม่มีใครในโลก ที่ไม่ถูกนินทา

                                                         

ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน อนาคต
คนที่ถูกสรรเสริญ โดยส่วนเดียว
หรือถูกนินทา โดยส่วนเดียว ไม่มี

                                                         

พึงควบคุม ความคนองทางวาจา
พึงสำรวมคำพูด
พึงละวจีทุจริต
ประพฤติวจีสุจริต

พึงควบคุม ความคนองทางใจ
พึงสำรวมความคิด
พึงละมโนทุจริต
ประพฤติมโนสุจริต

                                                         

คนมีปัญญา
ควรขจัดมลทินของตน
ทีละน้อยๆ ทุกๆ ขณะ โดยลำดับ
เหมือนนายช่างทองปัดเป่าสนิมแร่

                                                         

บุคคลใด ฆ่าสัตว์ พูดเท็จ ลักทรัพย์
ประพฤติล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น
ดื่มสุราเมรัยเป็นนิตย์
ผู้นั้นนับว่า ขุดรากถอนโคนตนเอง
ในโลกนี้ทีเดียว

                                                         

ไม่มี ไฟใด เสมอราคะ
ไม่มี เคราะห์ร้ายใด เสมอโทสะ
ไม่มี ข่ายดักสัตว์ใด เสมอโมหะ
ไม่มี แม่น้ำใด เสมอตัณหา

                                                         

โทษคนอื่นเห็นได้ง่าย
โทษตนเห็นได้ยาก
คนเรามักเปิดเผยโทษคนอื่น
เหมือนโปรยแกลบ
แต่ปิดบังโทษของตน
เหมือนนักเลงเต๋าโกง ซ่อนลูกเต๋า

                                                         

ผู้ที่ตัดสินคดีโดยสะเพร่า
ไม่จัดเป็นผู้เที่ยงธรรม
ส่วนผู้ที่ฉลาด  วินิจฉัยรอบคอบ
ทั้งฝ่ายถูก และฝ่ายผิด
จึงจัดเป็นผู้เที่ยงธรรม

                                                         

ไม่ใช่เพราะพูดคล่อง
ไม่ใช่เพราะมีผิวพรรณสวย
ที่ทำให้คนเป็นคนดีได้
ถ้าหากเขายังมีความริษยา
มีความตระหนี่ เจ้าเล่ห์
เขาก็เป็นคนดีไม่ได้

                                                         

พวกเธอจงพยายามทำความเพียรเถิด
พระตถาคต เป็นเพียงผู้ชี้บอกทางเท่านั้น
ชนทั้งหลายผู้เดินทางสายนี้
โดยปฏิบัติภาวนา
ก็จะพ้นจากเครื่องผูกของพระยามาร

                                                         

"สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยงแท้"
"สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์"
"ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา"
เมื่อใด บุคคลเห็นแจ้งด้วยปัญญาดังนี้
เมื่อนั้น เขาย่อมหน่ายในทุกข์
นี่เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

                                                         

พึงระมัดระวังวาจา พึงสำรวมใจ
ไม่พึงทำบาปทางกาย
พึงชำระ ทางกรรมทั้งสามนี้ ให้หมดจด
เมื่อทำได้เช่นนี้
เขาพึงพบทางที่พระฤๅษีเจ้าแสดงไว้

                                                         

ปัญญาเกิดมีได้ เพราะตั้งใจพินิจ
เสื่อมไป เพราะไม่ได้ตั้งใจพินิจ
เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมของปัญญาแล้ว
ควรจะทำตนโดยวิถีทางที่
ปัญญาจะเจริญ

                                                         

จงถอนความรักของตน
เหมือนคนถอนดอกบัวที่เกิดในฤดูสารท
จงเพิ่มพูนแนวทางแห่งสันติ
คือ นิพพาน
ที่พระสุคตเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว

                                                         

ผู้ใดปรารถนาสุขเพื่อตน
โดยการก่อทุกข์ให้คนอื่น
ผู้นั้นมักเกี่ยวพันด้วยเวรไม่รู้สิ้น
ไม่มีทางพ้นทางเวรไปได้

                                                         

ชนเหล่าใด
เจริญสติในกายเป็นนิตย์
ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
ทำเฉพาะสิ่งที่ควรทำเสมอ
สำหรับชนผู้มีสติ สัมปชัญญะ
พร้อมมูลเหล่านั้น
อาสวะ (ความชั่ว) มีแต่จะหมดไป

                                                         

คนที่พูดเท็จเสมอ
กับคนที่ทำแล้ว
พูดว่า "ฉันไม่ได้ทำ"
ตกนรกเหมือนกัน
มนุษย์สองจำพวกนั้น ตายไปแล้ว
มีกรรมชั่วเหมือนกัน ในโลกหน้า

                                                         

ผู้ที่นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
มีเป็นจำนวนมาก
ที่ประพฤติชั่ว ไม่สำรวม
คนชั่วเหล่านั้น
ย่อมตกนรก เพราะกรรมชั่ว

                                                         

คนที่มัวเมา ผิดเมียท่านเป็นนิตย์
ย่อมได้รับเคราะห์ร้าย สี่สถานคือ
หนึ่งได้รับบาป สองนอนไม่เป็นสุข
สามเสียชื่อเสียง สี่ตกนรก

                                                         

เราจักอดทนต่อคำเสียดสีของคนอื่น
เหมือนพระยาคชสาร ในสนามรบ
ทนลูกศรที่ปล่อยออกไปจากคันธนู
เพราะว่าคนโดยมาก มีสันดานชั่ว

                                                         

เมื่อก่อน ใจข้านี้
ได้ท่องเที่ยวไปในอารมณ์
ตามปรารถนา ตามความใคร่
ตามสบาย
แต่บัดนี้ ข้าจักบังคับมัน
ด้วยโยนิโสมนสิการ (คิดเป็น, คิดดี)
เหมือนควาญช้างถือขอ
บังคับช้างที่ตกมัน ฉะนั้น

                                                         

พวกเธอจงยินดีในความไม่ประมาท
จงระมัดระวังจิตของตน
จงถอนตนออกจากหล่มกิเลส
เหมือนพระยาช้างติดหล่ม
พยายามช่วยตัวเอง ฉะนั้น

                                                         

มีเพื่อนตาย ก็มีความสุข
ยินดีเท่าที่หามาได้ ก็มีความสุข
ทำบุญไว้ถึงคราวจะตาย ก็มีความสุข
ละทุกข์ได้ทั้งหมด ก็มีความสุข

                                                         

ศีลให้เกิดสุข ตราบเท่าชรา
ศรัทธา ที่ตั้งมั่นแล้ว ให้เกิดสุข
ปัญญา ได้มาแล้ว ให้เกิดสุข
การไม่ทำบาปทั้งหลาย ให้เกิดสุข

                                                         

เมื่อรากยังแข็งแรง ไม่ถูกทำลาย
ต้นไม้ แม้ที่ถูกตัดแล้ว ก็งอกได้ใหม่ ฉันใด
เมื่อยังทำลายเชื้อตัณหาไม่ได้หมด
ความทุกข์นี้ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เรื่อยไป
ฉันนั้น

                                                         

เหล่าสัตว์ ติดกับตัณหา
กระเสือกกระสน
มิผิดกระต่ายติดบ่วง
สัตว์ทั้งหลายติดอยู่ในกิเลสเครื่องผูกมัด
ย่อมประสบทุกข์บ่อยๆ
ตลอดกาลนาน

                                                         

จงปล่อยวาง
ทั้ง อดีต อนาคต และปัจจุบัน
และไปให้ถึงที่สุดแห่งภพ
เมื่อใจหลุดพ้นจากทุกอย่างแล้ว
พวกเธอจักไม่มาเกิดไม่แก่อีกต่อไป

                                                         

ธรรมทาน ชนะทานทุกอย่าง
รสพระธรรม ชนะรสทุกอย่าง
ความยินดีในธรรม
ชนะความยินดีทุกอย่าง
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทุกอย่าง

                                                         

ผู้ไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวง
ว่า "กู"  "ของกู"
ไม่ว่าในรูป (ร่างกาย)
หรือนาม (จิตใจ)
เมื่อไม่มี ก็ไม่เศร้าโศก
เขาผู้นั้นแหละ เรียกได้ว่า "ภิกษุ"

                                                         

ภิกษุ
เธอจงวิดน้ำ(กิเลส)
ออกจากเรือ(คืออัตภาพ ร่างกาย)นี้
เมื่อวิดน้ำออกหมดแล้ว
เรือจักแล่นเร็ว
ทำลายราคะ โทสะ โมหะเสียแล้ว
เธอจักไปถึงพระนิพพาน

                                                         

ไม่ว่าเมื่อใด ท่านพิจารณาเห็น
ความเกิดและความดับ
แห่งขันธ์ทั้งหลาย
ท่านย่อมได้ปีติ และปราโมทย์
ซึ่งเป็นสิ่งอมตะ
สำหรับท่านผู้รู้ทั้งหลาย

                                                         

จงเตือนตนด้วยตนเอง
จงพิจารณาตนด้วยตนเอง
ถ้าเธอคุ้มครองตนได้
มีสติรอบคอบ เธอจักอยู่เป็นสุข

                                                         

ท่านที่อบรมจิตใจเป็นอย่างดี
ในคุณธรรมที่จะนำไปสู่การตรัสรู้
(โพธิปักขิยธรรม)
ไม่ยึดมั่น ยินดีในความปล่อยวาง
ท่านเหล่านั้น เป็นพระอรหันต์
สงบสว่าง
เข้าถึงพระนิพพานแล้วในโลกนี้

                                                         

จงดูร่างกายที่ว่าสวยงามนี้เถิด
เต็มไปด้วยแผล
สร้างขึ้นด้วยกระดูก
เต็มด้วยโรค
มากด้วยความครุ่นคิดปรารถนา
หาความยั่งยืนถาวรมิได้

                                                         

การพบพระอริยเจ้าเป็นความดี
การอยู่ร่วมกับท่านให้เกิดสุขทุกเมื่อ
เมื่อไม่คบคนพาลเสียได้
คนเราพึงมีความสุข
เป็นนิจนิรันดร์

                                                         

บุรุษผู้หักห้ามใจไม่ทำชั่ว
เพราะละอายบาป
หาได้น้อยนักในโลกนี้
คนเช่นนี้ย่อมปลุกตัวเอง
จากหลับอยู่เสมอ
เหมือนม้าดี
ระวังตัวเองให้พ้นแส้ ฉะนั้น
ธรรมดาม้าดี เมื่อถูกลงแส้ครั้งหนึ่ง
ก็ย่อมสำนึก (ความผิดครั้งแรก)
และพยายาม (วิ่งให้เร็ว)
พวกเธอก็จงทำตนเช่นนั้น
อาศัย ศรัทธา, ศีล
ความเพียร, สมาธิ, การวินิจฉัยธรรม
ความสมบูรณ์ด้วยความรู้
และการปฏิบัติ, มีสติสมบูรณ์
พวกเธอจักละทุกข์ได้ไม่น้อยเลย
เราต้องพึ่งตัวเราเอง
คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว
ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้แสนยาก
บาปที่ตนทำเอง เกิดในตนเอง
และตนเองเป็นผู้สร้างไว้
ย่อมทำลายคนโง่
เหมือนเพชรทำลายแก้วมณี ฉะนั้น
คนทุศีล
ก็เหมือนกับต้นไม้ ที่เถาวัลย์ขึ้นจนรก
เขาทำตัวให้วอดวายเอง
มิจำต้องรอให้ศัตรูมาคอยกระทำให้
คนทรามปัญญา
มีความเห็นผิด ติเตียนคำสอน
ของเหล่าพระอริยะผู้อรหันต์
ผู้มีชีวิตอยู่โดยธรรม
เขาย่อมเกิดมาเพื่อฆ่าตัวเขาเอง
เหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ฉะนั้น
ตนทำบาปเอง ตนก็เศร้าหมองเอง
ตนไม่ทำบาป ตนก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์
เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นจะให้คนอื่นบริสุทธิ์แทนไม่ได้
อย่าประพฤติสิ่งเลวทราม
อย่าอยู่ด้วยความประมาท
อย่ายึดถือความเห็นผิด
อย่าทำตนเป็นคนรกโลก

ลุกขึ้นเถิด อย่ามัวประมาทอยู่เลย
จงประพฤติสุจริตธรรม
เพราะผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ไม่ทำความชั่วทุกชนิด
ทำแต่ความดี
ทำใจให้ผ่องใส
นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พุทธวจนะ 4